คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ได้ให้ ข. กับ ป. และ ห. บรรพบุรุษของโจทก์และบริวารซึ่งเป็นญาติเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาท โดยอาศัยปลูกบ้านอยู่และปลูกพืชผักสวนครัว อันเป็นการยึดที่ดินพิพาทแทน ล. เมื่อ ล. ตายที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยจำเลยก็อนุญาตให้ ป. กับ ห. และบริวารอาศัยอยู่ต่อมา เมื่อ ป. เป็นผู้นำที่ดินของ ล. ที่ตนอาศัยไปแจ้งการครอบครอง จึงถือว่าเป็นการแจ้งการครอบครองแทน ล. ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินที่พิพาท คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพียงว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เป็นประเด็นว่า ป. แจ้งสิทธิครอบครอง ตาม ส.ค.1 ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของ ล. มารดาจำเลยแทน ล. มารดาจำเลยเท่านั้น การที่จำเลยฎีกาปัญหาอื่นนอกจากนี้ แม้จำเลยจะได้นำสืบด้วย ก็ถือว่าเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทและเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง
ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความ ท้าย ป.วิ.พ. ให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะคดีโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดี กับเทียบเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูง เมื่อปรากฏว่าทนายโจทก์ก็ได้เรียงพิมพ์คำแก้อุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นแล้ว ถือว่าทนายโจทก์ได้ว่าคดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว โดยจำเลยได้อุทธรณ์มาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งฟังไม่ขึ้นแม้แต่ข้อเดียว จนศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสมดังที่ทนายโจทก์ได้แก้อุทธรณ์ไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ได้ เมื่อทุนทรัพย์ในคดีมีจำนวน 960,000 บาท ส่วนค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์นั้นมีจำนวน 25,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.6 ของจำนวนทุนทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่อาจกำหนดค่าทนายความให้ในอัตราขั้นสูงได้ถึงร้อยละ 3 ของจำนวนทุนทรัพย์ ค่าทนายความดังกล่าวไม่สูงเกินส่วน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินดังกล่าวและห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปหรือจนกว่าจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินหัวไร่ปลายนาของนางลามารดาของจำเลยนางลาได้ให้นางไข่ นางเปล่ง และนายหลี บรรพบุรุษของโจทก์และบริวารซึ่งเป็นญาติเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาท โดยอาศัยปลูกบ้านอยู่และปลูกผักพืชสวนครัวเนื้อที่ไม่เกิน 1 ไร่ อันเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทนนางลา เมื่อนางลาตายที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลย จำเลยก็อนุญาตให้นางเปล่ง นายหลีและบริวารอาศัยอยู่ต่อมา โจทก์เป็นบริวารของนางเปล่งและนายหลี แม้โจทก์กับพวกจะครอบครองที่ดินพิพาทนานเท่าใด โจทก์ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของ นางเปล่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทตาม ส.ค.1 เลขที่ 127 หมู่ที่ 2 ตำบลนาเริก อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีนางเปล่งเป็นผู้นำที่ดินของนางลาที่ตนอาศัยไปแจ้งการครอบครอง จึงถือว่าเป็นการแจ้งการครอบครองแทนนางลา ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทไม่ใช่มรดกของนางเปล่ง การที่จำเลยคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินไม่ได้เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามมิให้จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 25,000 บาท แทนโจทก์
หลังจากที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก่อนยื่นฎีกาทายาทของจำเลยรวม 8 คน ยื่นคำร้องว่าจำเลยถึงแก่กรรมในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 และขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “..พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จล.1 มีเนื้อที่ 8 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวาตั้งอยู่ที่ตำบลนาเริก อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เดิมนางไข่เข้ามาครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาท เมื่อนางไข่ถึงแก่กรรม นางเป่ง หรือนางเปล่ง กับนายหลี บุตรของนางเปล่งได้เข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทสืบต่อมาโดยนางเปล่งปลูกบ้านเลขที่ 29 นางทีปลูกบ้านเลขที่ 30 และนายจันทร์ พี่ชายโจทก์ปลูกบ้านไม่มีเลขที่อีกหลังหนึ่งในที่ดินพิพาท
คดีมีปัญหาที่สมควรวินิจฉัยก่อนว่า ตามที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินที่นางเป่งหรือนางเปล่งอ้างว่าเป็นเจ้าของตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 มิใช่ที่ดินพิพาท แต่เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นคนรุ่นหลานอยากจะได้ที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์จึงสร้างข้อเท็จจริงว่าที่ดินตาม ส.ค.1 เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแปลงนี้และใบเสร็จรับเงิน (ภ.บ.ท.5) น่าจะมีการทำขึ้นภายหลังเป็นการสร้างพยานหลักฐานเท็จ นั้น เห็นว่า ในการยื่นคำให้การต่อสู้คดีของจำเลย จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่ทั้งโจทก์และจำเลยต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อดังกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่า นางลาได้ให้นางไข่ นางเปล่ง และนายหลี บรรพบุรุษของโจทก์และบริวารซึ่งเป็นญาติเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาท โดยอาศัยปลูกบ้านและปลูกพืชผักสวนครัว อันเป็นการยึดถือที่ดินพิพาทแทนนางลา เมื่อนางลาตายที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลย จำเลยก็อนุญาตให้นางเปล่ง นายหลีและบริวารอาศัยอยู่ต่อมา นางเปล่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาท นางเปล่งเป็นผู้นำที่ดินของนางลาที่ตนอาศัยไปแจ้งการครอบครอง จึงถือว่าเป็นการแจ้งการครอบครองแทนนางลาไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินพิพาท คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพียงว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เป็นประเด็นว่านางเปล่งแจ้งสิทธิครอบครองตาม ส.ค.1 ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนางลามารดาจำเลยแทนนางลามารดาจำเลยเท่านั้น การที่จำเลยฎีกาปัญหาอื่นนอกจากนี้ว่ามีการนำ ส.ค.1 อื่นมาสวมแทนที่ที่ดินพิพาทและมีการทำใบเสร็จรับเงิน (ภ.บ.ท.5) เท็จขึ้นมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัย แม้จำเลยจะได้นำสืบในเรื่อง ส.ค.1 สวมแทนไว้ก็ถือว่าเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาท ส่วนเรื่องใบเสร็จรับเงิน (ภ.บ.ท.5) เท็จเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตาม 249 วรรคหนึ่ง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมาตามฎีกาจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อเอกสารระบุชื่อของผู้ครอบครองไว้ว่านางเป่ง (นางเปล่ง) เป็นผู้แจ้งการครอบครอง และทางพิจารณาได้ความว่านางเปล่งก็ปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินตลอดมาจนถึงแก่ความตายซึ่งบ้านที่ปลูกสร้างไว้ในที่ดินพิพาทก็เป็นการปลูกสร้างที่มีลักษณะมั่นคงและยังได้ความวว่าฝ่ายโจทก์เป็นผู้เสียบำรุงท้องที่ตลอดมา โดยมีหลักฐานตามใบเสร็จรับเงินมาแสดง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านางเปล่งได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน นางเปล่งจึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกก็ย่อมตกได้แก่ทายาท นายหลีบิดาของโจทก์เป็นบุตรคนหนึ่งของนางเปล่ง เมื่อนายหลีถึงแก่ความตายโจทก์และพี่น้องซึ่งเป็นทายาทของนายหลีจึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทยังไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นสัดส่วน ดังนั้น ทายาทของนางเปล่งจึงเป็นเจ้าของร่วมกัน แม้โจทก์จะไม่ได้อยู่อาศัยในที่ดินแปลงพิพาทแต่ก็ปรากฏว่าในที่ดินพิพาทมีการปลูกสร้างบ้านอยู่ถึง 3 หลัง ซึ่งบ้านทั้งสามหลังดังกล่าวก็มีทายาทของนางเปล่งอยู่อาศัยโดยที่ยังไม่มีการแบ่งแยกที่ดินพิพาทเป็นสัดส่วน เช่นนี้ ก็ถือว่าเป็นการเข้ามาครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่าทนายความให้โจทก์ถึง 25,000 บาท นั้นสูงมากเกินไป คดีนี้ไม่มีข้อเท็จจริงยุ่งยากซับซ้อนเป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบ นั้น เห็นว่า ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะคดีโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดี กับเทียบเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้นโดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูง ดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 เมื่อปรากฏว่าทนายโจทก์ได้เรียงพิมพ์คำแก้อุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นแล้วถือว่าทนายโจทก์ได้ว่าคดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว โดยจำเลยได้อุทธรณ์มาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งฟังไม่ขึ้นแม้แต่ข้อเดียว จนศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสมดังที่ทนายโจทก์ได้แก้อุทธรณ์ไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ได้ เมื่อทุนทรัพย์ในคดีมีจำนวน 960,000 บาท ส่วนค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์นั้นมีจำนวน 25,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.6 ของจำนวนทุนทรัพย์ ค่าทนายความดังกล่าวจึงไม่สูงเกินส่วน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดค่าทนายความ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share