คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สำหรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในขอบเขตซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 บัญญัติไว้ และศาลแรงงานกลางได้ลดอัตราให้เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ส่วนข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืน ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนทำสัญญาจำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งนักบินอยู่แล้วและปรากฏตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ผ่านการฝึกอบรมตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จะไม่สามารถทำหน้าที่ขับเครื่องบิน 737-200 ที่โจทก์นำมาใช้ในสายการบินของโจทก์ได้ แสดงว่าการฝึกอบรมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นที่ต้องการของบริษัทอื่นเพราะไม่ต้องลงทุนส่งคนไปฝึกอบรม ข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์มิฉะนั้นต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนและเสียเบี้ยปรับจึงเป็นข้อห้ามที่มีลักษณะเพื่อปกป้องกิจการของโจทก์ไม่ให้สูญเสียพนักงานที่อุตส่าห์ลงทุนส่งไปฝึกอบรมจนมีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบินของกรมการบินพาณิชย์ จึงเป็นข้อตกลงที่สามารถกระทำได้ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 โดยมุ่งหวังที่จะได้พนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่โจทก์ต้องการไว้ทำงานกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมโดยมีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินเพิ่มขึ้น ทั้งจำเลยที่ 1 สามารถจะเลือกเอาได้ว่าจะกลับมาทำงานกับโจทก์หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนให้โจทก์พร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ข้อกำหนดเบี้ยปรับดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่โจทก์ส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน (รวมทั้งวันเดินทาง 2 วัน) โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไว้ 300,000 บาท และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไปเพียง 223,871.70 บาท ข้อกำหนดที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 3 ปี จึงเป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งสินค้าและคนโดยสารทางอากาศทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ในตำแหน่งนักบินที่ 2 ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2546 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศกับโจทก์เพื่อไปฝึกอบรมหลักสูตร Flight Simulator Training (การฝึกบินกับเครื่องจำลองการบิน) ณ ศูนย์ฝึกอบรมของ PT. Grahadi Angkasa (พีที. กราฮาดิแองกาซา) เมืองจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 14 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2546 เป็นเวลา 14 วัน (รวมวันเดินทาง 2 วัน) โดยตกลงกันว่าโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและค่าตอบแทนในระหว่างการฝึกอบรมให้แก่จำเลยที่ 1 คือ ค่าฝึกอบรม ค่าที่พัก ค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงาน ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ ค่าเบี้ยเลี้ยงครูฝึกบิน ค่าตั๋วเครื่องบินพนักงาน ค่าตั๋วเครื่องบินเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ค่าเบี้ยเลี้ยงครูฝึกบิน ค่าตั๋วเครื่องบินพนักงาน ค่าตั๋วเครื่องบินเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ ค่าตั๋วเครื่องบินครูฝึกบิน และค่าภาษีสนามบิน เมื่อสำเร็จการฝึกอบรมแล้วจำเลยที่ 1 จะกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือ 1,095 วัน หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการฝึกอบรมรวมทั้งค่าตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปในระหว่างการฝึกอบรมคืนให้แก่โจทก์ทั้งหมด และยอมใช้ค่าเสียหายอีก 3 เท่าของจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ทวงถาม โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ได้เดินทางไปฝึกอบรมจนจบหลักสูตรแล้ว โดยโจทก์เสียค่าใช้จ่ายซึงได้แก่ค่าฝึกอบรมในประเทศ ค่าเครื่องจำลองการบิน ค่าฝึกกับเครื่องบินแบบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ค่าฝึกกับเครื่องบินแบบที่มีการเคลื่อนไหว ค่าธรรมเนียมการโอนเงินค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยงนักบิน ค่าเบี้ยเลี้ยงครูฝึก ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ ค่าตั๋วเครื่องบินนักบิน ค่าตั๋วเครื่องบินครูฝึก ค่าตั๋วเครื่องบินเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ ค่าภาษีสนามบิน และค่าที่พัก รวมเป็นเงิน 397,857.29 บาท แต่จำเลยที่ 1 กับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งนักบินที่ 2 เพียง 352 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2546 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2547 จำเลยที่ 1 ก็ลาออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 ไปทำงานในตำแหน่งนักบินกับบริษัทอื่นซึ่งประกอบกิจการเช่นเดียวกับโจทก์อันเป็นการผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม 397,857.29 บาท และใช้ค่าเสียหายอีก 3 เท่า คิดเป็นเงิน 1,193,571.87 บาท รวมเป็นเงิน 1,591,429.16 บาท ให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ทำงานชดใช้แล้ว 352 วัน คิดเป็นเงิน 511,582.71 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้อีก 1,079,846.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันจำเลยที่ 1 ลาออก โดยจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดด้วยเฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 84,316.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ 1,164,163.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 1,079,846.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นเรื่องคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่แล้ว อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 143/2547
ศาลแรงงานกลางพิจารณาประเด็นอื่นแล้วฟ้องข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งทางอากาศทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งนักบินที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ให้ค่าจ้างเป็นเงินเดือนเดือนละ 40,000 บาท กับค่าตำแหน่งเดือนละ 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 55,000 บาท ตามสัญญาว่าจ้าง ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2546 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศเพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับทุนเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกบินกับเครื่องจำลองการบินที่ศูนย์ฝึกอบรม พีที. กราฮาดิแองกาซา เมืองจาการ์ตาสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีกำหนด 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 ถึงวันที่ 27 มกราคม 2546 มีสาระสำคัญว่า โจทก์จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ตามรายการและค่าใช้จ่ายที่ประมาณการไว้ ซึ่งเมื่อคิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 43 บาท จะเป็นเงินไทยประมาณ 300,000 บาท เมื่อฝึกอบรมเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 จะกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลา 3 ปี หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่โจทก์ได้จ่ายไปทั้งหมดคืนให้แก่โจทก์และยอมใช้ค่าเสียหายอีก 3 เท่า ของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมทำสัญญาแล้วโจทก์ได้ส่งจำเลยที่ 1 และนักบินอื่นรวม 10 คน ไปฝึกอบรมภายในประเทศที่บริษัทไทยเจเนอรัล อเวชั่น เทคโนโลยี จำกัด แล้วจึงส่งจำเลยที่ 1 และนาวาอากาศตรีไพรรัตน์ พร้อมด้วยครูฝึกบินอีก 1 คน กับเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลและรับรองการฝึกอบรมของกรมการบินพาณิชย์อีก 1 คน เดินทางไปฝึกอบรมตามวันเวลาที่กำหนดจนแล้วเสร็จโดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้กลับมาทำงานกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2546 จนถึงวันที่ 14 มกราคม 2547 รวม 352 วัน โดยโจทก์ไม่ได้ให้กำหนดให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม จำเลยที่ 1 จึงลาออกไปทำงานกับสายการบินอื่นที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 ยังทำงานอยู่นั้นโจทก์จ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนด แต่ติดค้างเฉพาะค่าจ้างช่วงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2547 และโจทก์นำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่าสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้อ 6 ระบุว่า เมื่อสำเร็จการฝึกอบรมตามกำหนดแล้วจำเลยที่ 1 จะทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์ได้กำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี จำเลยที่ 1 ฝึกอบรมเสร็จ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2546 และเดินทางกลับมาทำงานกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2546 แต่จำเลยที่ 1 ได้ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2547 เพื่อไปทำงานที่แห่งใหม่ที่เจริญก้าวหน้ากว่า รวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ทำงานให้โจทก์เพียง 352 วัน ไม่ครบ 3 ปี ตามที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ผิดสัญญาหรือเป็นฝ่ายเลิกจ้างสัญญา แม้โจทก์จะจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนด แต่ก่อนเกิดกรณีพิพาทโจทก์ก็ไม่เคยติดค้างชำระค่าจ้างแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่ถึงขนาดจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ทำงานให้กับโจทก์ให้ครบกำหนดระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์และข้อตกลงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในสัญญาดังกล่าวไม่เป็นข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่ถึงขนาดทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยที่ 1 จนจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม (2) และวรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 10 ตามที่จำเลยกล่าวอ้างเพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเบี้ยปรับ มาตรา 397 ถึงมาตรา 385 และว่าด้วยดอกเบี้ย มาตรา 7 มาตรา 224 และมาตรา 654 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ 2541 มาตรา 14 บัญญัติให้คู่กรณีสามารถตกลงเบี้ยปรับผิดสัญญาและอัตราดอกเบี้ยกันได้ซึ่งหากสูงเกินไปศาลก็ใช้ดุลพินิจลดลงได้ตามจำนวนที่พอสมควร จึงมีผลใช้บังคับค่าฝึกอบรมภายในประเทศไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ระบุไว้ในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ โจทก์ไม่มีสิทธินำมารวมเป็นค่าใช้จ่ายให้จำเลยที่ 1 รับผิด คู่มือพนักงานของโจทก์ ระบุให้พนักงานระดับผู้จัดการที่เดินทางไปปฎิบัติงานต่างประเทศในทวีปเอเชียมีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 50 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ได้รับทุนเดินทางไปฝึกอบรมยังต่างประเทศเพื่อนำความรู้กลับมาทำงานให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติงานของโจทก์ที่ต่างประเทศจึงมีสิทธิได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงตามคู่มือพนักงานดังกล่าวโจทก์ไม่มีสิทธินำมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน จึงต้องรับผิดชอบค่าที่พักของตนเองเพียง 14 วัน ไม่ใช่ 1 เดือน ตามที่โจทก์กล่าวอ้างค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการให้ทุนจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมต่างประเทศซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์จึงคิดเป็นเงินเพียง 223,871.70 บาท และเมื่อนำมูลค่าที่จำเลยที่ 1 ได้ทำงานชดใช้ให้โจทก์แล้ว 352 วัน มาหักออก จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนและค่าปรับอีก 3 เท่า อันเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ จึงรวมเป็นเงิน 607,622.56 บาท ซึ่งเมื่อพิจารณาทางได้เสียของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ต้องได้รับความเสียหายเดือดร้อนจากการสูญเสียบุคลากรที่เป็นนักบินให้แก่คู่แข่งทางธุรกิจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 แม้จะไม่มากนัก ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ทำงานชดใช้ให้แล้วบางส่วนและได้ประโยชน์จากการนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวหักเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีเงินได้ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องทำงานกับโจทก์โดยได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสมและไม่ตรงตามกำหนด ทั้งยังถูกติดค้างค่าจ้างในช่วงวันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2547 รวมตลอดถึงทางได้เสียอื่น ๆ ของทั้งสองฝ่ายเปรียบเทียบกันแล้วสมควรลดค่าเสียหายดังกล่าวลงเหลือ 400,000 บาทและลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “..ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ข้อตกลงในสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์เป็นเวลา 3 ปี มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่าของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1ต้องชดใช้คืน และเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นข้อตกลงที่มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งเสรีภาพเพราะจำเลยที่ 1 อยู่ในภาวะจำยอมต้องเข้าทำสัญญากับโจทก์ เนื่องจากได้ลาออกจากราชการมาทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์แล้ว และเป็นข้อตกลงที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร จึงเป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นการอุทธรณ์ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพการงานซึ่งไม่เป็นโมฆะ แต่เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้ถูกจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 5 ซึ่งมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น และจำเลยทั้งสองสามารถยกขึ้นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในขอบเขตซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติไว้ และศาลแรงงานกลางได้ลดอัตราให้เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ส่วนข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืน ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนทำสัญญาจำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งนักบินอยู่แล้วและปรากฏตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ผ่านการฝึกอบรมตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จะไม่สามารถทำหน้าที่ขับเครื่องบิน 737-200 ที่โจทก์นำมาใช้ในสายการบินของโจทก์ได้ แสดงว่าการฝึกอบรมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินเพิ่มขึ้นย่อมเป็นที่ต้องการของบริษัทอื่นเพราะไม่ต้องลงทุนส่งคนไปฝึกอบรม ข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์มิฉะนั้นต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนและเสียเบี้ยปรับจึงเป็นข้อห้ามที่มีลักษณะเพื่อปกป้องกิจการของโจทก์ไม่ให้สูญเสียพนักงานที่อุตส่าห์ลงทุนไปฝึกอบรมจนมีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบินของกรมการบินพาณิชย์ จึงเป็นข้อตกลงที่สามารถกระทำได้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 โดยมุ่งหวังที่จะได้พนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่โจทก์ต้องการไว้ทำงานกับโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมโดยมีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินเพิ่มขึ้น ทั้งจำเลยที่ 1 สามารถจะเลือกเอาได้ว่าจะกลับมาทำงานกับโจทก์หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนให้โจทก์พร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ข้อกำหนดเบี้ยปรับ 3 เท่า ดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่โจทก์สั่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน (รวมทั้งวันเดินทาง 2 วัน) โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไว้ 300,000 บาท และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไปเพียง 223,871.70 บาท ข้อกำหนดที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 3 ปี จึงเป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไป 223,871.70 บาท จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานชดใช้เป็นเวลา 1 ปีหรือ 365 วัน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำงานให้โจทก์แล้ว 352 วัน จำนวนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืนให้แก่โจทก์จึงคิดเป็นเงิน 7,973.52 บาท และเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืนเป็นเงิน 23,920.56 บาท จึงรวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องร่วมกันชดใช้ให้แก่โจทก์ 31,894.08 บาท อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 31,894.08 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ปี นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share