คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14892/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้กู้ยืมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินจำนวนแน่นอน เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา การที่โจทก์แถลงขอส่งหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจแทนการสืบพยานและศาลอนุญาตถือได้ว่าเป็นการให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยไม่จำต้องมีพยานบุคคลมาสืบประกอบ
จำเลยที่ 2 ปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 ต้องแสดงโดยชัดแจ้งด้วยว่าอายุความ 1 ปี นับแต่วันใดและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความนั้นแล้วอย่างไร การที่จำเลยที่ 2 ให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 เนื่องจากสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาค้ำประกันตกเป็นมรดกของ ศ. ตั้งแต่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2540 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องตามสัญญาค้ำประกันภายใน 1 ปี นับถึงวันฟ้องสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น จำเลยที่ 2 มิได้ระบุวันที่โจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ศ. ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความว่าเป็นวันที่เท่าใด จึงไม่ชัดแจ้งว่าอายุความเริ่มนับเมื่อวันที่เท่าใดและโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วจริงหรือไม่ จำเลยที่ 2 จะอนุมานเอาจากข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ว่าโจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของ ศ. ว่าเป็นวันใดก็ไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การ คำให้การของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 33,234,252.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงิน 14,774,352.93 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนางศรีโสภา ร่วมกันชำระเงิน 33,234,252.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 14,774,352.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า หนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบให้สมฟ้อง แต่โจทก์อ้างส่งหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจโดยไม่มีพยานบุคคลมาสืบประกอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้กู้ยืมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินจำนวนแน่นอนเมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 206 วรรคสองให้นำบทบัญญัติในมาตรา 198 ทวิ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลมการที่โจทก์แถลงขอส่งหนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจแทนการสืบพยานและศาลชั้นต้นอนุญาต ถือได้ว่าเป็นการให้โจทก์ส่งพยานเอกสารตามที่ศาลเห็นว่าจำเป็นแทนการสืบพยาน เอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้โดยไม่จำต้องมีพยานบุคคลมาสืบประกอบ ที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังเอกสารดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน และต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 ต้องแสดงโดยชัดแจ้งด้วยว่าอายุความ 1 ปี นับแต่วันใด และโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความนั้นแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เนื่องจากสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาค้ำประกันตกเป็นมรดกของนางศรีโสภาแล้วตั้งแต่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2540 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิฟ้องร้องตามสัญญาค้ำประกันภายใน 1 ปี นับถึงวันฟ้องสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น จำเลยที่ 2 มิได้ระบุวันที่โจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนางศรีโสภาซึ่งเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความว่าเป็นวันที่เท่าใด จึงไม่แจ้งชัดว่าอายุความเริ่มนับเมื่อวันที่เท่าใดและโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้วจริงหรือไม่ จำเลยที่ 2 จะอนุมานเอาจากข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์รู้หรือควรได้รู้ถึงการตายของนางศรีโสภาว่าเป็นวันใดก็ไม่ได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 จะต้องแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การ คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ไม่มีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share