แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเมทแอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า เมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจะต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคสองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เพราะเกินคำขอและมิได้กล่าวในฟ้อง จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 66 วรรคหนึ่ง
โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยเนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 และจำเลยได้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่า 17 ปี จำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวไปแล้ว ภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกนั้น เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ฯ ใช้บังคับ และบทบัญญัติมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้บังคับ (วันที่ 5 ธันวาคม 2550) โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้นเมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปก่อนวันที่ พ.ร.บ. ข้างต้นใช้บังคับ จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 92 และขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม, 66 วรรคสอง, 100/1 วรรคสอง เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายมาตรา 92 และเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 8 ปี ปรับ 400,000 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี 4 เดือน รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน ปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 5 ปี 4 เดือน ปรับ 266,667 บาท ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี (ที่ถูก 3 ปี) 5 เดือน 10 วัน รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปี 9 เดือน 10 วัน ปรับ 266,667 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ห้ามมิให้กักขังเกินกว่า 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์นำสืบแต่เพียงว่าสายลับเข้าล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนางตุ๊กตาไม่ได้ล่อซื้อจากจำเลย ทางนำสืบของเจ้าพนักงานตำรวจก็ได้ความว่าที่บ้านพักของนางตุ๊กตามีการลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับนางตุ๊กตาเพียงใด หรือเป็นหุ้นส่วนด้วยกัน ลำพังแต่เพียงจำเลยยืนอยู่ภายในบ้านใกล้กับนางตุ๊กตาและค้นพบเมทแอมเฟตามีนในตัวจำเลยอีก 20 เม็ด ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังว่า จำเลยเป็นตัวการร่วมกับนางตุ๊กตากระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ที่จำเลยเขียนคำรับต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าร่วมกับนางตุ๊กตาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก็เป็นเพียงคำรับในชั้นจับกุมของจำเลยเท่านั้นใช้ฟังลงโทษโดยลำพังไม่ได้ ส่วนที่นางตุ๊กตาได้นำกระเป๋าเงินออกมาโดยแจ้งว่าเป็นกระเป๋าเงินของจำเลย และจำเลยยอมรับต่อเจ้าพนักงานตำรวจในทันทีว่าเมทแอมเฟตามีนที่ค้นพบเป็นของนางตุ๊กตากับจำเลยร่วมกันจำหน่ายนั้น ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าของเจ้าพนักงานตำรวจที่รับฟังมาจากจำเลยและนางตุ๊กตาเท่านั้นไม่อาจนำคำบอกเล่าดังกล่าวมาฟังลงโทษจำเลยได้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และยกฟ้องข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โดยให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจะต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัม กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคสอง ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เพราะเกินคำขอและมิได้กล่าวในฟ้องจึงต้องลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามมาตรา 66 วรรคสอง จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องและแก้ไขโทษเสียด้วย นอกจากนี้ที่โจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยเนื่องจากจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1094/2545 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2545 และจำเลยได้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่า 17 ปี จำเลยพ้นโทษคดีดังกล่าวไปแล้วภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ขึ้นอีกนั้น เนื่องจากในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ และบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ (วันที่ 5 ธันวาคม 2550) โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้พ้นโทษไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับจำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 4 ปี สถานเดียว ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน คำขอเพิ่มโทษให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2