คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15064/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โทษฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 กำหนดโทษไว้เป็น 3 ประการ คือ โทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี โดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 คือ โทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ฉะนั้น โทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ 20 ปี ดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ 13 ปี 4 เดือน การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ข้อหาฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น 15 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์หรือฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 288 ริบมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 (ที่ถูกมาตรา 80, 83) จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้ลงมือ เห็นสมควรลงโทษจำคุก 10 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือนริบของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งให้เป็นเป็นอย่างอื่นรับฟังได้ว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ผู้เสียหายไปร่วมวงดื่มสุราทึ่ซุ้มหน้าร้านสหกรณ์หมู่บ้านอู่โลก มีนายลุย นายเจียะ นายวิรัตน์ และนายสุพลหรือโต้ง ร่วมวงอยู่ด้วยส่วนจำเลยทั้งสองกับพวกนั่งดื่มสุราอยู่ในซุ้มข้างๆ ขณะนั้นจำเลยทั้งสองมีอาการมึนเมาสุรา ระหว่างร่วมวงผู้เสียหายพูดกับนายสุพลว่า “มึงเคยสลบหรือไม่” นายสุพลจึงเดินไปที่ซุ้มที่จำเลยทั้งสองนั่งอยู่ จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ร้องตะโกนว่า “ใครทำน้องกูวะ” แล้วเดินมาที่ซุ้มที่ผู้เสียหายนั่งอยู่ ผู้เสียหายลุกขึ้นแต่เจ้าของร้านสหกรณ์หมู่บ้านอู่โลกเข้ามาพาผู้เสียหายออกไปทางถนนห่างจากซุ้มประมาณ 4 เมตร จำเลยที่ 1 ตามเข้าไปใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายบริเวณเอวซ้ายและไหล่ซ้าย เมื่อผู้เสียหายล้มลงจำเลยที่ 1 กระโดดขึ้นคร่อมผู้เสียหายแล้วใช้อาวุธมีดแทงที่อกซ้ายผู้เสียหาย จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็หลบหนีไป คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ขณะที่เจ้าของร้านสหกรณ์หมู่บ้านอู่โลกพาผู้เสียหายออกไปจากซุ้มนั้น จำเลยที่ 2 เดินเข้ามาต่อยหน้าผู้เสียหายส่วนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายล้มลงจำเลยที่ 1 กระโดดขึ้นคร่อมและแทงผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ยืนอยู่ข้างๆ คอยระวังไม่ให้ผู้อื่นเข้าช่วยพร้อมกับพูดว่า “ใครอย่าเข้ามานะมึง” และได้เตะผู้เสียหายที่ไหล่ นอกจากนี้ โจทก์มีนายลุย นายเจียะ นายวิชิต เป็นพยานเบิกความสนับสนุน แม้พยานโจทก์ปากนายสุพลจะเบิกความไม่ยืนยันว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดผิดกับจำเลยที่ 1 ก็ตามแต่ตามคำให้การของนายสุพลในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นเยาวชนให้การต่อพนักงานสอบสวน ต่อหน้าพนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ และบุคคลที่พยานร้องขอและหลังเกิดเหตุไม่นานมีรายละเอียดสอดคล้องกับพยานโจทก์ปากอื่นข้างต้น น่าเชื่อว่าคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุพลเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความของนายสุพลในชั้นพิจารณาและโจทก์ยังมีคำให้การชั้นสอบสวนของนายวิรัตน์ที่ร่วมวงสุรากับผู้เสียหายเป็นพยานสนับสนุนอีก นายลุย นายเจียะ และนายวิชิตไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อนจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ดังกล่าวจะเบิกความเข้าข้างผู้เสียหายแล้วแต่งเติมข้อเท็จจริงให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโทษข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 เข้าชกหน้าผู้เสียหายจากนั้นจำเลยที่ 1 เข้าไปใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายล้มลงจำเลยที่ 1 กระโดดคร่อมและใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย จำเลยที่ 2 ยืนคุมเชิงและไม่ให้ผู้ใดเข้าช่วยผู้เสียหาย ทั้งยังเตะผู้เสียหายที่ไหล่ จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็หลบหนีไปกับจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหาย แต่จำเลยที่ 2 อยู่กับจำเลยที่ 1 โดยตลอด อีกทั้งเข้าทำร้ายผู้เสียหายและหลบหนีไปด้วยกันย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า พยานโจทก์ไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กระทำไปเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่ผู้เสียหายพูดขู่ว่าจะทำร้ายนายสุพลเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าอันตรายที่ใกล้จะถึง จึงใช้กำลังกายของจำเลยที่ 2 กระทำไปเพื่อป้องกันบุคคลอื่นพอสมควรแก่เหตุ หากฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นเพื่อป้องกันนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี เป็นการลงโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 เบากว่านี้ได้อีก ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง โทษฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กำหนดโทษไว้เป็น 3 ประการ คือ ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี โดยให้ศาลเลือกพิจารณาลงโทษตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ในคดีนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ที่กำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้นซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาเลือกกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 คือ โทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ฉะนั้น โทษสูงสุดของอัตราโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ 20 ปี ดังกล่าวที่สามารถจะลงโทษในข้อหาฐานพยายามได้ในกรณีนี้คือ 13 ปี 4 เดือน การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ข้อหาฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น 15 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงเป็นการลงโทษเกินสองในสามส่วนของโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์หรือฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225″
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share