คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 682/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติมาตรา 193 แห่งป.วิ.พ. กรณีจะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คือกรณีที่จำเลยมาศาลตามวันที่กำหนดในหมายเรียกแต่ไม่ยอมให้การ และศาลมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การและดำเนินการพิจารณาต่อไป โดยศาลไม่ต้องมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีมโนสาเร่ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกอย่างคดีแพ่งสามัญจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และในวันนัดพิจารณาเมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองมาพร้อมกันแล้ว การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การแล้วศาลไกล่เกลี่ยต่อไป เมื่อคู่ความไม่อาจตกลงกันได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไป จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองพร้อมบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 37/1 ออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองอีก
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การและยื่นคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 37/1 ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8099 ตำบลบ้านอิฐ อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ของโจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การและอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์คำสั่งและยกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกาคำสั่งไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าคำสั่งศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องเป็นคดีมโนสาเร่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีมโนสาเร่ ให้ศาลกำหนดวันนัดพิจารณาโดยเร็วและออกหมายเรียกไปยังจำเลย ในหมายนั้นให้จดแจ้งประเด็นแห่งคดีและจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาที่เรียกร้อง และข้อความว่าให้จำเลยมาศาลเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน…” วรรคสองบัญญัติว่า “ในวันนัดพิจารณา เมื่อโจทก์และจำเลยมาพร้อมกันแล้ว ให้ศาลไกล่เกลี่ยให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในข้อที่พิพาทนั้นก่อน” วรรคสามบัญญัติว่า “ถ้าคู่ความไม่อาจตกลงกันหรือไม่อาจประนีประนอมยอมความกันได้ และจำเลยยังมิได้ยื่นคำให้การ ให้ศาลสอบถามคำให้การของจำเลย โดยจำเลยจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือ หรือจะให้การด้วยวาจาก็ได้…” วรรคสี่ (เดิม) บัญญัติว่า “ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสามให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมให้เลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ โดยถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาด…” จากบทบัญญัติดังกล่าวกรณีที่จะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คือกรณีที่จำเลยมาศาลตามวันที่กำหนดในหมายเรียก แต่ไม่ยอมให้การและศาลมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การและดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปโดยศาลไม่ต้องมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การคดีนี้ศาลชั้นต้นรับฟ้องเป็นคดีมโนสาเร่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกอย่างคดีแพ่งสามัญจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และในวันนัดพิจารณาเมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองมาพร้อมกันแล้ว การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งว่าจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การแล้วศาลไกล่เกลี่ยต่อไป เมื่อคู่ความไม่อาจตกลงกันได้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไปจึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบเช่นกัน ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 193 จำเลยทั้งสองจึงไม่จำต้องยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การจึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้รับคำให้การของจำเลยทั้งสองแล้วให้ศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่

Share