คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8876/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลังจากครบกำหนดยื่นอุทธรณ์แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดได้อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้อง ประกอบกับผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งแรก จึงมีเหตุสมควรที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ผู้ร้อง
คำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดที่ผู้ร้องยื่นระหว่างฎีกาขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เป็นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ไม่ใช่คำร้องขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 การพิจารณาว่าศาลใดมีอำนาจสั่งคำร้องจะต้องพิจารณาว่าประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใดเมื่อประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีคือทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 หรือผู้ร้อง แต่ประเด็นที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาคือมีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องหรือไม่ ซึ่งเมื่อศาลฎีกาพิพากษากลับให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ คดีก็เสร็จไปจากการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจมีคำสั่งตามคำร้องของผู้ร้องได้ประกอบกับการยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ คู่ความจะต้องยื่นต่อศาลในขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาหรือมิฉะนั้นต้องยื่นในชั้นบังคับคดีเมื่อมีเหตุที่จะขอคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความเพื่อบังคับตามคำพิพากษา เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แต่ยังมิได้สั่งรับอุทธรณ์ กรณีจึงมิใช่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาและมิใช่เป็นการขอคุ้มครองประโยชน์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาเพราะผู้ร้องยังไม่ถูกบังคับคดี การยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 264

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 7,679,526.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 5,493,896.33 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากผิดนัดให้บังคับทรัพย์จำนองตามฟ้อง ต่อมาจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องซื้อแต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 3 ในโฉนดที่ดินแทน ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยสงบ เปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้มีคำสั่งปล่อยทรัพย์ดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน (ที่ถูกเป็นคำให้การ) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ทนายผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกาพร้อมกับยื่นคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดระหว่งฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของผู้ร้องตามคำร้องฉบับลงวันที่ 18 มีนาคม 2548 ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเกี่ยวกับคำร้องขัดทรัพย์ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2548 ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 21 มีนาคม 2548 ทนายผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2548 โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องเพิ่งแจ้งความประสงค์ว่าประสงค์จะอุทธรณ์ในวันดังกล่าว จึงต้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาและเอกสารในสำนวนทำให้ไม่สามารถจัดทำอุทธรณ์ได้ทันภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นวันหลังจากครบกำหนดยื่นอุทธรณ์แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีโอกาสยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดได้อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้อง เพราะหากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 18 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำร้อง ผู้ร้องก็ยังเหลือเวลาอีก 3 วัน ที่จะจัดทำอุทธรณ์ยื่นภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ประกอบกับผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งแรกโดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องเพิ่งแจ้งความประสงค์ว่า จะอุทธรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง จึงต้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาและเอกสารในสำนวน ซึ่งนับว่ามีเหตุผลอันสมควร พฤติการณ์ของผู้ร้องดังกล่าวมิได้เป็นการประวิงคดีให้ล่าช้าแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของผู้ร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องออกไป 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งนี้
อนึ่ง คำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดระหว่างฎีกาของผู้ร้องนั้น เป็นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ไม่ใช่เป็นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 231 การพิจารณาว่าศาลใดเป็นศาลที่มีอำนาจสั่งคำร้องดังกล่าวจะต้องพิจารณาว่าประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใด ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีนี้คือทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 หรือเป็นของผู้ร้อง แต่ประเด็นที่ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาในชั้นนี้คือมีพฤติการณ์พิเศษที่ศาลฎีกาจะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องหรือไม่ ซึ่งถือเป็นคดีสาขา ไม่ใช่คดีหลัก อีกทั้งเมื่อศาลฎีกาพิพากษากลับให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ร้อง คดีก็เสร็จไปจากการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกายังไม่อาจพิพากษาให้เป็นไปตามคำร้องขอของผู้ร้องได้ ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจมีคำสั่งคุ้มครองประโยชน์ให้ผู้ร้องได้ อีกทั้งการยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 นั้น คู่ความจะต้องยื่นต่อศาลในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาหรือมิฉะนั้นก็ยื่นในชั้นบังคับคดีเมื่อมีเหตุที่จะขอคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความเพื่อบังคับตามคำพิพากษา แต่กรณีของผู้ร้องนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้อง จึงมิใช่คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และมิใช่เป็นการขอคุ้มครองประโยชน์เพื่อบังคับตามคำพิพากษาด้วยเพราะผู้ร้องมิได้ถูกบังคับคดี การยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ต้องยกคำร้อง”
พิพากษากลับ ให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องออกไป 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง ยกคำร้องขอให้งดการขายทอดตลาดระหว่างฎีกาของผู้ร้อง ค่าคำร้องและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share