แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2513 ในขณะที่ที่ดินของจำเลยทั้งสองยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. เป็นต้นมา เป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วก่อนที่ที่ดินของ ป. จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. บิดาของจำเลยทั้งสองในปี 2537 และยกให้เป็นของจำเลยทั้งสองในปี 2545 โดย ป. ไม่ได้โต้แย้งหรือหวงห้ามแต่อย่างใด และปรากฏว่าที่ดินที่ ป. แบ่งขายให้โจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ป. จึงได้บอกให้โจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินของ ป. เป็นทางเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะเช่นนี้ย่อมมีเหตุผลให้ฟังได้ว่า ป. มีเจตนาให้โจทก์ใช้ทางพิพาทอย่างเป็นทางภาระจำยอม เพราะมิฉะนั้นโจทก์อาจจะไม่ตกลงซื้อที่ดินจาก ป. ดังนี้ การใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาใช่ใช้โดยถือวิสาสะดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางเดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แม้ต่อมาภายหลัง ป. จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ ว. บิดาจำเลยทั้งสองและ ว. จะยกให้จำเลยทั้งสองก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิภาระจำยอมให้ทางพิพาทของโจทก์สิ้นไปไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเปิดทางภาระจำยอมกว้างประมาณ 3 เมตรยาวประมาณ 8 เมตร ในที่ดินของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนให้ทางภาระจำยอมแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนให้ทางภาระจำยอมตามรูปแผนที่ตรงเส้นสีเหลืองกว้าง 3 เมตร ยาย 8 เมตร ให้โจทก์กับพวกใช้เป็นทางเดินต่อไป หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 12296 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 20272 ที่ดินของโจทก์และจำเลยทั้งสองเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันของนายปลีก โจทก์ซื้อมาจากนายปลีกเมื่อปี 2513 และโจทก์ใช้ทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะตามแนวเส้นสีเหลืองในแผนที่พิพาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ทางพิพาทตามแนวเส้นสีเหลืองในแผนที่พิพาทเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์โดยอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนางบรรจบ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์เบิกความว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาจากนายปลีก เมื่อปี 2513 ที่ดินดังกล่าวไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายปลีกจึงให้โจทก์เดินผ่านที่ดินของนายปลีกซึ่งอยู่ติดกันกว้างประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 8 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่แนวเขตที่ดินที่ติดต่อกันเป็นคูน้ำตลอดแนว ทางที่ยกให้โจทก์เดินนั้นโจทก์จึงต้องถมเอาเอง โจทก์ได้ถมทางพิพาทแล้วใช้เดินตลอดมาจนถึงปี 2520 โจทก์ซื้อรถไถนาจึงนำการถมทางใหม่และใช้รถไถนาเข้าออกทางพิพาทตลอดมาจนกระทั่งปี 2545 จำเลยทั้งสองจึงปิดทาง โดยโจทก์มีนางไสว บุตรสาวโจทก์ซึ่งขณะเบิกความมีอายุ 40 ปี มาเบิกความสนับสนุนว่า โจทก์ใช้ทางเดินเข้าออกผ่านทางพิพาทตั้งแต่พยานจำความได้ โจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางออกเนื่องจากที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกเพราะต้องผ่านที่ดินของนายเสงี่ยมและนายเสงี่ยมปลูกกอไผ่ขวางไว้ ในส่วนพยานหลักฐานของการใช้ทางพิพาทมาเกินกว่า 10 ปี แล้วนั้น โจทก์มีนางดาราวรรณ และนางสุรีย์ เบิกความสนับสนุนว่า เห็นโจทก์ใช้ทางพิพาทเดินออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2530 ซึ่งเป็นปีที่นางดาราวรรณเข้าไปปลูกบ้านอยู่ใกล้บ้านโจทก์ โดยเฉพาะนางสุรีย์ก็เบิกความว่า รู้จักโจทก์มา 12 ถึง 13 ปี แล้ว โจทก์มีอาชีพเลี้ยงหมู พยานเคยไปรับซื้อหมูที่บ้านโจทก์ปีละประมาณ 5 ถึง 6 ครั้งโดยใช้รถยนต์ปิคอัพเข้าไปตรงทางพิพาทเพื่อบรรทุกหมูด้วย ส่วนในเรื่องที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะนั้น โจทก์มีนายธนู ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านและกำนันในท้องที่เกิดเหตุทั้งยังเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่อยู่ด้านหน้าที่ดินโจทก์ เบิกความว่า นายวีระบิดาจำเลยทั้งสองและโจทก์มีทางเข้าออกบ้านคู่กัน แต่ใช้ปากทางออกร่วมกัน และเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยืนยันว่า ที่ดินของโจทก์ไม่ติดทางสาธารณะเพราะมีที่ดินของพยานกั้นอยู่ ปากทางเข้าบ้านโจทก์ด้านที่ติดกับประตูรั้วบ้านของพยานเดิมเป็นป่า โจทก์ไม่ได้ใช้ออกทางนี้ พยานเพิ่งถางกอไผ่ออกเมื่อปี 2544 และโจทก์เพิ่งมาใช้เป็นทางออกเมื่อจำเลยทั้งสองปิดทาง โดยพยานได้เปิดให้เดินเข้าออกเป็นการชั่วคราว ส่วนพยานจำเลยคงมีนายวีระ บิดาจำเลยทั้งสองและตัวจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่เบิกความว่า โจทก์มีทางเข้าบ้านกว้างประมาณ 3 เมตร ใช้ออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศใต้เดิมพยานใช้ทางออกทางด้านทิศตะวันออก ต่อมาปี 2538 พยานมาใช้ทางออกทางด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินโจทก์โดยถมคูน้ำเป็นถนน หลังจากนั้นโจทก์จึงได้มาใช้ปากทางออกร่วมกับพยาน ส่วนนายกรณ์ และนางกำไร ที่มาเบิกความเป็นพยานจำเลยอ้างว่า เคยเดินผ่านที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะ แต่ก่อนปี 2538 พยานและโจทก์ไม่เคยใช้ทางพิพาทผ่านปากทางเข้าบ้านของจำเลยนั้น ก็ปรากฏว่าครอบครัวของพยานทั้งสองเคยมีเรื่องบาดหมางกับโจทก์มาก่อนคำเบิกความของพยานทั้งสองนี้จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงก็ปรากฏอีกว่านายวีระบิดาของจำเลยทั้งสองเพิ่งจะซื้อที่ดินเมื่อปี 2537 นั้นเอง จึงย่อมจะไม่ทราบความเป็นมาของการใช้ทางพิพาท ก่อนปี 2537 อีกทั้งนายวีระและจำเลยที่ 1 เองก็ยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า ที่ดินทางด้านทิศใต้ของโจทก์ที่ติดกับที่ดินของนายเสงี่ยมเดิมมีกอไผ่และเป็นป่ารก นายธนูเพิ่งมาถางออกเมื่อตอนที่นายธนูเข้ามาปลูกบ้าน ประมาณปลายปี 2543 อันเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ที่ว่าที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเพราะนายเสงี่ยมปลูกกอไผ่ขวางอยู่อีกด้วย ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2513 ในขณะที่ที่ดินของจำเลยทั้งสองยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนายปลีกเป็นต้นมา เป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วก่อนที่ที่ดินของนายปลีกจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวีระบิดาของจำเลยทั้งสองในปี 2537 และยกให้เป็นของจำเลยทั้งสองในปี 2545 โดยนายปลีกไม่ได้โต้แย้งหรือหวงห้ามแต่อย่างใด แม้นางบรรจบผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเบิกความว่านายปลีกได้ให้โจทก์เดินผ่านที่ดินของตน และนางไสว บุตรสาวโจทก์จะเบิกความว่านายปลีกเจ้าของเดิม อนุญาตให้โจทก์ใช้ทางพิพาทก็ตาม ก็คงเป็นการเบิกความไปตามความเข้าใจของพยานเอง แต่จากข้อเท็จจริงที่นายปลีกแบ่งขายที่ดินให้โจทก์และปรากฏว่าที่ดินที่แบ่งขายให้โจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายปลีกจึงได้บอกให้โจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินของนายปลีกเป็นทางเดินเข้าออกสู่ทางธารณะเช่นนี้ย่อมมีเหตุผลให้ฟังได้ว่า นายปลีกมีเจตนาให้โจทก์ใช้ทางพิพาทอย่างเป็นทางภาระจำยอม เพราะมิฉะนั้นโจทก์อาจจะไม่ตกลงซื้อที่ดินจากนายปลีก ดังนี้ การใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาใช่ใช้โดยถือวิสาสะดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางเดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้ว แม้ต่อมาภายหลังนายปลีกจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่นายวีระบิดาจำเลยทั้งสองและนายวีระจะยกให้จำเลยทั้งสองก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิภาระจำยอมในทางพิพาทของโจทก์สิ้นไปไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ