คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10259/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้จำเลยให้การตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทมิได้อยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 19861 และ 19863 ของโจทก์ เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ น้ำทะเลท่วมถึงบิดามารดาจำเลยเข้าจับจองครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ต่อมาเมื่อประมาณ 15 ปี มาแล้ว บิดามารดาจำเลยได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยกลับให้การต่อมาว่า หากฟังว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ โฉนดที่ดินดังกล่าวก็ออกโดยไม่ชอบ และหากฟังว่าออกโฉนดที่ดินโดยชอบ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์แล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ เห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของโจทก์ อันเป็นการขัดแย้งกันเองเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่
เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เท่ากับจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นศาลละ 200 บาท ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 37,125 บาท จึงไม่ถูกต้องและโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเป็นเงิน 37,500 บาท จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเป็นเงิน 37,500 บาท และเสียค่าขึ้นศาลในอนาคตมาอีก 100 บาท จึงไม่ถูกต้องเช่นกัน สำหรับค่าขึ้นศาลในอนาคตนั้นจำเลยไม่ต้องเสีย แม้ฎีกาของจำเลยจะมีคำขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหายหรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้าย ป.วิ.พ. ที่ให้คิดค่าขึ้นศาล 100 บาท เป็นอีกส่วนหนึ่งเพราะเป็นคำขอที่มีผลต่อเนื่องจากคำขอที่ให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นคำขอประธานเท่านั้น กรณีจึงเป็นการที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์เกินมา 36,925 บาท และ 37,300 บาท ตามลำดับ จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเกินมา 37,400 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์และจำเลย
จำเลยไม่ได้ให้การว่า ที่ดินพิพาทมิใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แม้จำเลยจะนำสืบในประเด็นนี้และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงจะฎีกาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2544 จำเลยและบริวารบุกรุกเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19861 และ 19863 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของโจทก์ เพื่อยึดถือครอบครองโดยปลูกสร้างโรงเรือนอยู่อาศัยและปลูกสร้างรั้วคอนกรีตล้อมในที่ดินทั้งสองแปลงทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 19861 และทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 19863 เป็นเนื้อที่ประมาณ 297 ตารางวา อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ เป็นการละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ หากโจทก์นำที่ดินดังกล่าวออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้รับประโยชน์เป็นค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,000 บาท ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19861 และ 19863 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป หากจำเลยและบริวารไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเองโดยค่าใช้จ่ายของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 9,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนและรั้วคอนกรีตมิได้อยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 19861 และ 19863 ของโจทก์ เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ น้ำทะเลท่วมถึง ประชาชนซึ่งมีอาชีพประมงใช้เป็นที่จอดเรือ เมื่อประมาณปี 2520 บิดามารดาจำเลยจับจองที่ดินพิพาทปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยและประกอบอาชีพโดยล้อมรั้วเป็นสัดส่วน เป็นเนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา ทั้งได้ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ต่อมาเมื่อประมาณ 15 ปีมาแล้ว บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้จำเลย จำเลยได้ครอบครองต่อมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หากฟังว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์ โฉนดที่ดินดังกล่าวก็ออกโดยไม่ชอบ เพราะนำที่ดินที่เป็นสาธารณประโยชน์ไปออกโฉนด และหากฟังว่าออกโฉนดที่ดินโดยชอบ จำเลยก็เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจนถึงวันฟ้องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์ด้วยการครอบครองปรปักษ์แล้ว ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริงหากนำที่ดินพิพาทออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 19861 และ 19863 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ของโจทก์ ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าคดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ คดีนี้จำเลยให้การตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทมิได้อยู่ในเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 19861 และ 19863 ของโจทก์ เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ น้ำทะเลท่วมถึง บิดามารดาจำเลยเข้าจับจองครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ต่อมาเมื่อประมาณ 15 ปีมาแล้ว บิดามารดาจำเลยได้ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย ต่อมาจำเลยกลับให้การว่า หากฟังว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ โฉนดที่ดินดังกล่าวก็ออกโดยไม่ชอบ และหากฟังว่าออกโฉนดที่ดินโดยชอบ จำเลยก็ได้กรรมสิทธิ์แล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ เห็นว่า คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของโจทก์ อันเป็นการขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เกิดที่งอกขึ้นเพราะมีการสร้างเขื่อนหินของบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำกัด ยื่นลงไปในทะเลทางทิศเหนือของที่ดินพิพาท ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนชายหาดที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางธรรมชาตินั้น เห็นว่า ในประเด็นนี้จำเลยให้การไว้แต่เพียงว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ น้ำทะเลท่วมถึง ประชาชนซึ่งมีอาชีพประมงใช้เป็นที่จอดเรือเท่านั้น จำเลยหาได้ให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติไม่ แม้จำเลยจะนำสืบในประเด็นนี้และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกที่มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เท่ากับจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นศาลละ 200 บาท ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นเพิ่มอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 37,125 บาท จึงไม่ถูกต้อง และโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาเป็นเงิน 37,500 บาท จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาเป็นเงิน 37,500 บาท และเสียค่าขึ้นศาลในอนาคตมาอีก 100 บาท จึงไม่ถูกต้องเช่นกัน สำหรับค่าขึ้นศาลในอนาคตนั้นจำเลยไม่ต้องเสีย แม้ฎีกาของจำเลยจะมีคำขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปด้วย แต่คำขอในส่วนนี้มิใช่เป็นคำขอให้ชำระค่าเสียหายหรือเงินอื่น ๆ บรรดาที่ให้จ่ายมีกำหนดเป็นระยะเวลาในอนาคตตามตาราง 1 (4) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ให้คิดค่าขึ้นศาลหนึ่งร้อยบาทเป็นอีกส่วนหนึ่งเพราะเป็นคำขอที่มีผลต่อเนื่องจากคำขอที่ให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นคำขอประธานเท่านั้น กรณีจึงเป็นการที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์เกินมา 36,925 บาท และ 37,300 บาท ตามลำดับ จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเกินมา 37,400 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์และจำเลย”
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์เสียเกินมา 36,925 บาท และ 37,300 บาท ตามลำดับแก่โจทก์ และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยเสียเกินมา 37,400 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share