คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10255/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจาก ฮ. การที่จำเลยครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนด โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าขึ้นใหม่และไม่ชำระค่าเช่าแต่ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและตึกแถวพิพาทแทนอีกต่อไปหรือจำเลยเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ถือไม่ได้ว่าจำเลยเปลี่ยนแปลงลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน จำเลยจึงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครองฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทของผู้อื่นไว้โดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 157 (เดิม) นั้น เป็นคนละเรื่องกับความรับผิดของคู่ความฝ่ายแพ้คดีที่จะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 (เดิม) ดังนั้น แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาแต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลก็ชอบจะพิพากษาคดีให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 41803 และตึกแถวของโจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง และค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและตึกแถวของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การและฟ้องแย้งโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 41803 เฉพาะในส่วนที่ปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 285 เนื้อที่ 10 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์ทั้งสองกับบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกอกน้อยเพื่อแก้ชื่อทางทะเบียนโดยใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 41803 ตำบลบางพลัด อำเภอบางกอกน้อย (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร และตึกแถวพิพาทเลขที่ 285 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 79 แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 20,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเช่าจำนวน 1,500 บาท ที่ครบกำหนดในแต่ละงวดเดือนนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2541 จนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 สิงหาคม 2542) กับค่าเช่าอีกเดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและตึกแถวพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง ค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยรวมกันถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 40,000 บาท ตามที่โจทก์ทั้งสองขอ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งให้เป็นพับ และให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เดิมตึกแถวพิพาทเป็นของนางเนียร จากนั้นวันที่ 20 กันยายน 2514 นางเนียรจดทะเบียนการเช่าให้แก่นายเฮ่งคุง มีกำหนดระยะเวลา 13 ปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2514 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2527 ขณะที่สัญญาเช่าตึกแถวระหว่างนางเนียรกับนายเฮ่งคุงยังไม่ครบกำหนด ที่ดินที่ปลูกตึกแถวดังกล่าวทางราชการได้ออกเป็นโฉนดเลขที่ 41803 โดยมีนางประภาศรีเป็นเจ้าของ ส่วนตึกแถวพิพาทเป็นของนางสาวลำดวน ปี 2524 นางประภาศรี ได้ขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายธัญญา ปี 2526 จำเลยได้เข้ามาอยู่ในตึกแถวพิพาทโดยรับโอนสิทธิการเช่าจากนายเฮ่งคุง ต่อมาปี 2539 โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินดังกล่าวพร้อมตึกแถวพิพาทและตึกแถวอื่นอีก 22 ห้อง จากนายธัญญาและนางสาวลำดวน เมื่อจำเลยอยู่อาศัยในตึกแถวพิพาทครบกำหนดตามสัญญาเช่าที่นายเฮ่งคุงทำไว้กับนางเนียรแล้ว จำเลยคงอยู่อาศัยต่อมาทั้งไม่เคยนำค่าเช่าไปชำระให้แก่บุคคลใด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยเข้าอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าจากนายเฮ่งคุง การที่จำเลยครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนด โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าขึ้นใหม่และไม่ชำระค่าเช่า ถือไม่ได้ว่าจำเลยเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากยึดถือแทนเป็นยึดถือเพื่อตน จำเลยจึงเป็นผู้ยึดถือทรัพย์สินในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง จำเลยจะต้องบอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนอีกต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ครอบครองโดยสุจริตอาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 การที่จำเลยอาศัยอยู่ในที่ดินและตึกแถวพิพาทภายหลังสัญญาเช่าครบกำหนดและไม่มีการทำสัญญาเช่าขึ้นใหม่โดยทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่า จำเลยได้บอกกล่าวไปยังผู้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าไม่มีเจตนาจะยึดถือที่ดินและตึกแถวพิพาทแทนอีกต่อไป ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 10 ปี จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการสุดท้ายมีว่า การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองทั้งที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้นชอบหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า การได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 157 (เดิม) นั้น เป็นคนละเรื่องกับความรับผิดของคู่ความฝ่ายแพ้คดีที่จะต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 (เดิม) ดังนั้น แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาแต่เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายที่แพ้คดี ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์ทั้งสอง

Share