แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๔/๒๕๕๓
วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสมุทรปราการโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้น ไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ นางสมใจ เย็นชื่นใจ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ที่ ๒ นายเสน่ห์ แจ้งจรรยา ที่ ๓ นายเชาวนินทร์ หนูจันทร์แก้ว ที่ ๔ นายพงษ์ศักดิ์ ทับคล้าย ที่ ๕ นายสมศักดิ์ แก้วเสนา ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๑/๒๕๕๑ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๑๙ โจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดิน โฉนดเลขที่ ๒๐๖๕๘ ตำบลแพรกษาใหม่ (บางเมือง) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ ๑๗ ไร่ ๑ งาน ๙๕ ตารางวา จากนางปลิว เต็งรัง โดยการยกให้ และนางปลิวได้มอบสิทธิการครอบครองและทำประโยชน์ ในที่ดินซึ่งยังไม่มีเอกสารสิทธิ์เนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ ตารางวา ซึ่งอยู่นอกแนวเขตด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๖๕๘ ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินแปลงที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ต่อจำเลยที่ ๑ มีการรังวัดและคำนวณเนื้อที่ได้จำนวน ๓๘๔ ตารางวา แต่จำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนให้แก่โจทก์ จนต่อมาจำเลยที่ ๓ ขณะเป็นกำนันตำบลแพรกษาใหม่ไม่ลงนามรับรองเป็นพยานและทำบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๔ อันเป็นเท็จว่าเนื่องจากที่ดินแปลงนี้แจ้งกรรมสิทธิ์ (แปลงเดิม) มีแนวคลองสาธารณประโยชน์ (คลองทับนาง) กั้นอยู่ เนื้อที่ไม่ได้ลดลง และไม่มีหลักฐานเสียภาษีที่ดิน ทำให้นายอำเภอเมืองสมุทรปราการมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ และนางยุพร อารีย์รักษากุล เป็นกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สอบสวนประวัติความเป็นมาของที่ดินว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันหรือไม่ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ร่วมกันทำบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๕ เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีขอออกโฉนดโดยมิได้แจ้งการครอบครองว่าเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ว่า น่าจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันอันเป็นความเท็จ ทำให้จำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการไม่ออกโฉนดที่ดินเนื้อที่ ๓๘๔ ตารางวาให้แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งจำเลยที่ ๒ มีคำสั่งฉบับลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๘ ว่า น่าเชื่อว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนบันทึกข้อความของจำเลยที่ ๓ ฉบับลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๔ เรื่องการเป็นพยานและตรวจสอบการรังวัดออกโฉนดที่ดินทั้งฉบับ เพิกถอนบันทึกข้อความของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๕ เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีขอออกโฉนดโดยมิได้แจ้งการครอบครองว่าเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งฉบับ เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ฉบับลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๘ เรื่องอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ที่ยืนตามคำสั่งเดิมให้ยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์ และให้พิพากษาว่าที่ดินตามคำร้องขอออกโฉนดของโจทก์เนื้อที่ ๓๘๔ ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไม่ใช่ที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และให้จำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการออกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เกิดจากการเปลี่ยนสภาพของคลองทับนาง จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะออกโฉนดที่ดินให้ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๓ ทำบันทึกข้อความไปตามความจริง และได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต โจทก์มิได้รับความเสียหาย เนื่องจากที่ดินพิพาทที่โจทก์ขอให้ออกโฉนดนั้น จากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งโดยนายอำเภอเมืองสมุทรปราการทั้งสองชุดเห็นว่า เป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โดยเปลี่ยนสภาพมาจากคลองสาธารณประโยชน์ (คลองทับนาง) ที่ตื้นเขินขึ้น แม้โจทก์จะครอบครองก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและเป็นฟ้องเท็จ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๕ และที่ ๖ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ฉบับลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๘ เรื่องอุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดที่ยืนตามคำสั่งเดิม ให้ยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน นั้น เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการออกคำสั่งหรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
อนึ่งก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้อง นายเสน่ห์ แจ้งจรรยา ที่ ๑ นายอำเภอเมืองสมุทรปราการ ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ที่ ๓ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ที่ ๔ กรมที่ดิน ที่ ๕ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๓๗/๒๕๔๘ โดยศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่มีหลักฐานแจ้งการครอบครอง ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ ๓๘๔ ตารางวา โดยได้รับมอบการครอบครองมาจากนางปลิว พร้อมที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๖๕๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้สอบสวนและรังวัดที่ดิน โดยมีนางฉวีวรรณ กฤษน้อย เจ้าของที่ดินข้างเคียง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่า และเจ้าพนักงานสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ได้ไปตรวจสอบและรับรองแนวเขต ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๔ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แจ้งว่าไม่สามารถรับรองเป็นพยานได้ เนื่องจากที่ดินแปลงนี้แจ้งการครอบครองกรรมสิทธิ์ (แปลงเดิม) มีแนวคลองสาธารณประโยชน์ (คลองทับนาง) คั่นอยู่ เนื้อที่ก็ไม่ได้ลดลง ไม่มีหลักฐานเสียภาษีที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๕ ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ แจ้งว่าได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีบุคคลเข้าไปใช้ประโยชน์ หรือมีสิ่งปลูกสร้างครอบครอง จึงน่าจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จึงมีหนังสือที่ สป ๐๐๒๒/๑๙๘๙๖ ลงวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดิน ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีหนังสือที่ สป ๐๐๑๙/๓๙๕๒ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๘ แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบว่าผู้ปกครองท้องที่ในฐานะผู้ดูแลที่สาธารณประโยชน์ได้ตรวจสอบแล้ว ที่ดินแปลงที่ขอออกโฉนดเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันไม่สามารถออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีได้ และมีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดิน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเนื่องจากที่ดินแปลงนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ครอบครองและทำประโยชน์เป็นเวลานานแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ได้สอบสวนรังวัดสอบเขตและมีผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบระวังแนวเขตและลงลายมือชื่อรับรองว่าที่ดินที่ขอออกโฉนดไม่รุกล้ำที่สาธารณประโยชน์ ไม่เป็นที่หลวงหวงห้ามแต่อย่างใด ที่ดินของผู้ฟ้องคดี อยู่ในเงื่อนไขที่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๔ ที่ว่าที่ดินตามคำขอออกโฉนดที่ดินไม่ได้แจ้งการครอบครองของผู้ฟ้องคดีเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ทำการออกโฉนดที่ดินตามคำขอออกโฉนดที่ดินโดยไม่แจ้งการครอบครองตามคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี และจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แก่ผู้ฟ้องคดีด้วย เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากคำสั่งปฏิเสธไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีของฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีก็ตาม แต่การที่จะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีและให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณีอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๓/๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๘๔๓/๒๕๔๘
ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๔ ซึ่งจำเลยที่ ๓ เสนอต่อนายอำเภอเมืองสมุทรปราการเรื่องการเป็นพยานและตรวจสอบการรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยมิได้แจ้งการครอบครองของโจทก์ ขอให้เพิกถอนบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๔๕ ซึ่งจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ (ในฐานะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งแต่งตั้งโดยนายอำเภอเมืองสมุทรปราการ) เสนอความเห็นต่อนายอำเภอเมืองสมุทรปราการ เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีขอออกโฉนดโดยมิได้แจ้งการครอบครองว่าเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ และขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยที่ ๒ ฉบับลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๘ ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการที่มีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินของโจทก์ยืนตามคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินนั้น เมื่อพิจารณาสภาพข้อหาตามคำฟ้องโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมตามกฎหมายตามความเป็นจริงของสังคมไทยซึ่งมีกฏหมายบังคับโดยชอบแล้ว เท่ากับโจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีผู้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินอ้างว่าถูกกระทบกระเทือนสิทธิจากผลของการใช้อำนาจออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐประสงค์ให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองเป็นสำคัญ แม้โจทก์จะขอให้พิพากษาให้ที่ดินตามคำฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยให้จำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการดำเนินการออกโฉนดที่ดินและจดทะเบียนให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ด้วยนั้น กรณีก็เท่ากับโจทก์เพียงแต่ประสงค์ให้หน่วยงานทางปกครองกระทำการนั้น ๆ ให้ถูกต้องตรงจริงตามกฎหมายด้วยเท่านั้น คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๖ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่โจทก์อ้างว่า โจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๖๕๘ จากนางปลิว เต็งรัง โดยการยกให้ และนางปลิวได้มอบสิทธิการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์เนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ ตารางวา อยู่นอกแนวเขตด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๖๕๘ ให้ด้วย โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินแปลงที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ มีการรังวัดได้เนื้อที่ ๓๘๔ ตารางวา แต่ถูกจำเลยที่ ๓ ทำบันทึกข้อความอันเป็นเท็จว่าเนื่องจากที่ดินแปลงนี้แจ้งกรรมสิทธิ์ (แปลงเดิม) มีแนวคลองสาธารณประโยชน์ (คลองทับนาง) กั้นอยู่ เนื้อที่ไม่ได้ลดลง และไม่มีหลักฐานเสียภาษีที่ดิน และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ ซึ่งเป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งแต่งตั้งของนายอำเภอเมืองสมุทรปราการ ร่วมกันทำบันทึกข้อความอันเป็นความเท็จว่า ที่ดินพิพาทน่าจะเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ทำให้จำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการไม่ออกโฉนดให้แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง จำเลยที่ ๒ มีคำสั่งยืน ขอให้เพิกถอนบันทึกข้อความของจำเลยที่ ๓ เพิกถอนบันทึกข้อความของจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ที่ยืนตามคำสั่งเดิมที่ให้ยกเลิกคำขอรังวัดการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ และให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๓๘๔ ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เกิดจากการเปลี่ยนสภาพของคลองทับนาง จึงออกโฉนดที่ดินไม่ได้ จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และจากการพิจารณาของคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งโดยนายอำเภอเมืองสมุทรปราการทั้งสองชุดก็เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อันเกิดจากการตื้นเขินของคลองสาธารณประโยชน์ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนี้ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสมใจ เย็นชื่นใจ โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ที่ ๒ นายเสน่ห์ แจ้งจรรยา ที่ ๓ นายเชาวนินทร์ หนูจันทร์แก้ว ที่ ๔ นายพงษ์ศักดิ์ ทับคล้าย ที่ ๕ นายสมศักดิ์ แก้วเสนา ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ