แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๔๗/๒๕๕๓
วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓
เรื่อง การส่งเรื่องกรณีโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม
ศาลจังหวัดราชบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดราชบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยโต้แย้งเขตอำนาจศาลในคำให้การ และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑ บริษัทบี.ดี.พาวเวอร์ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทซี.เค.ที.อินเตอร์เทรด จำกัด ที่ ๑ นายวรเชษฐ์ นามเขื่อนแพทย์ ที่ ๒ มหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง ที่ ๓ นายธนกฤต พงศ์เดชกุล ที่ ๔ นายสันติภาพ กั้วพรหม ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดราชบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๘๗/๒๕๕๑ ความว่า จำเลยที่ ๓ ได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารเรียนอเนกประสงค์ จำนวน ๑ หลัง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ตามสัญญาเลขที่ ๕/๒๕๔๘ ต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างช่วงให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับเหมางานระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบสุขาภิบาลของอาคารเรียนดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา และได้ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้รับมอบงาน และจำเลยที่ ๕ ในฐานะกรรมการควบคุมงานจัดทำเอกสารเท็จว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินการตามสัญญาเสร็จแล้ว ทำให้โจทก์หลงเชื่อและจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการผิดสัญญา การกระทำของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ ๓ ในฐานะนายจ้างต้องร่วมกับจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นลูกจ้างรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดในทางการที่จ้าง ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน ๓,๒๔๕,๐๖๓.๔๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๓,๐๑๘,๖๖๓.๗๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีอาศัยสัญญาจ้างช่วงจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นหลัก โดยโจทก์อ้างว่าได้รับเหมาก่อสร้างอาคารเรียนเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงจากจำเลยที่ ๓ สัญญาจ้างดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ดังนั้น แม้โจทก์จะตั้งรูปคดีเป็นละเมิด โดยฟ้องขอให้จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้ร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้กระทำตามหน้าที่ แต่เมื่อ จำเลยที่ ๓ และที่ ๕ มิได้อยู่ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีนี้จึงเป็นคดีละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นคดีปกครอง จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดราชบุรีพิจารณาแล้วจัดทำความเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมรับผิดตามสัญญาจ้างทำของอันเป็นสัญญาทางแพ่ง และขอให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิด พร้อมขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกันและมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันมิได้ ประกอบกับคดีในส่วนการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๕ ไม่ปรากฏว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อคดีนี้เป็นกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาและการกระทำละเมิดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๓ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยที่ ๓ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษา จำเลยที่ ๓ ว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างอาคารเรียนอเนกประสงค์ตามสัญญาเลขที่ ๕/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ ซึ่งอาคารเรียนอเนกประสงค์เป็นถาวรวัตถุที่เป็นเครื่องมือในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการศึกษา จึงเป็นสิ่งสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยข้อ ๘ ของสัญญาอนุญาตให้มีการจ้างช่วงได้หากได้รับความยินยอมเป็นหนังสือ การที่โจทก์ทำสัญญาจ้างช่วงให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับเหมางานระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบสุขาภิบาลของอาคารเรียนอเนกประสงค์ดังกล่าว จึงถือว่าโจทก์ทำสัญญาจ้างช่วงดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๓ โจทก์จึงเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ เมื่อสัญญาจ้างช่วงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการจัดให้มีระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร ระบบสุขาภิบาลของอาคารเรียนอเนกประสงค์ จึงเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญาแต่ทำเอกสารเท็จว่าดำเนินการตามสัญญาเสร็จแล้ว ทำให้โจทก์หลงเชื่อและจ่ายเงินค่าจ้าง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ โจทก์ได้กล่าวหาว่า จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการของโจทก์ ในฐานะผู้รับมอบงานจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นลูกจ้างและกรรมการควบคุมงานของจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยจัดทำเอกสารเท็จว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ดำเนินการตามสัญญาแล้วเสร็จ ทำให้โจทก์หลงเชื่อและจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้อาศัยโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่กระทำการทุจริตเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๕ และที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัด จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ (เทียบเคียงกับคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒/๒๕๔๗, ๙/๒๕๔๗, ๑๐/๒๕๔๗) ส่วนข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชน แม้ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไรก็ดี เมื่อตามคำฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ และขอให้จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดดังกล่าว ข้อพิพาทนี้จึงเป็นกรณีที่มีมูลคดีเดียวกันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีทั้งสองจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเดียวกัน เพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในแนวเดียวกัน ดังนั้น คดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน (เทียบเคียงกับคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๕/๒๕๔๙)
อย่างไรก็ดี ศาลปกครองกลางมีข้อสังเกตเพิ่มเติมในคดีนี้ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีเห็นว่าคดีดังกล่าว อยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรม หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก สำหรับศาลปกครอง ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว และมาตรา ๑๐ วรรคสาม บัญญัติว่า ความในมาตรานี้ให้ใช้บังคับกับกรณีที่ศาลเห็นเองก่อนมีคำพิพากษาด้วยโดยอนุโลม ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ได้โต้แย้งเขตอำนาจศาลไว้ในคำให้การโดยมิได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะ จึงเป็นการโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น ไม่ใช่เห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลตน เมื่อในคดีนี้ศาลจังหวัดราชบุรีซึ่งเป็นศาลที่ส่งความเห็น เห็นว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลตน กรณีจึงไม่อาจถือว่าเป็นการทำความเห็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลในกรณีที่ศาลเห็นเองตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่นกัน ทั้งนี้ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔/๒๕๕๐
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๓ ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารเรียนอเนกประสงค์ จำนวน ๑ หลัง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง โจทก์จึงทำสัญญาว่าจ้างช่วงให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับเหมางานระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบสุขาภิบาล ของอาคารเรียนดังกล่าว จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา และได้ร่วมกับจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้รับมอบงาน และจำเลยที่ ๕ ในฐานะกรรมการควบคุมงานจัดทำเอกสารเท็จว่าดำเนินการตามสัญญาเสร็จแล้ว ทำให้โจทก์หลงเชื่อจึงจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นการผิดสัญญา การกระทำของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ ๓ ในฐานะนายจ้างต้องร่วมกับจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดในทางการที่จ้าง ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ให้การว่า เป็นคดีปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลจังหวัดราชบุรีจัดทำความเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของตนแล้วส่งให้ศาลปกครองจัดทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจศาลเช่นกัน เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า หากคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ก็จะต้องยื่นคำร้องก่อนวันสืบพยานของศาลยุติธรรม การโต้แย้งอำนาจศาลจึงต้องทำเป็นคำร้อง แต่การโต้แย้งของจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ในกรณีนี้เป็นการโต้แย้งที่ยกขึ้นกล่าวไว้ในคำให้การซึ่งถือว่าเป็นเพียงข้อต่อสู้คดีเท่านั้น โดยไม่ได้จัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลไว้เป็นการเฉพาะ จึงเป็นการโต้แย้งอำนาจศาลที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งการที่ศาลจะทำความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลจัดทำความเห็นตามข้อโต้แย้งที่เริ่มกระบวนการโดยการที่คู่ความยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งเสียก่อน ส่วนในกรณีที่ศาลเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม ให้นำความในมาตราเดียวกันนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลอื่น มิใช่เห็นเองว่าอยู่ในอำนาจของตนเอง เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ มิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งมิใช่กรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น จึงถือไม่ได้ว่ามีการขัดแย้งกันเกี่ยวกับอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องกรณีระหว่างศาลจังหวัดราชบุรีและศาลปกครองกลางที่เกี่ยวข้องกับโจทก์และจำเลยทั้งห้าในคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๗ วรรคสอง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ ติดราชการ
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ