คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8577/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำร้องของโจทก์ร่วม ระบุว่า โจทก์ร่วมได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยแล้วเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายในคดีนี้จึงไม่ติดใจเอาความใดๆ กับจำเลยอีก และประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์หรือขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย และท้ายคำร้องดังกล่าวจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อด้วย พอแปลความได้ว่าโจทก์ร่วมมีความประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์แล้วหรือหากศาลไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ ก็ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานเบาเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 อันเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา เมื่อจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งได้ แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งได้เช่นกัน เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาโจทก์ร่วมยื่นคำแถลงว่ายังไม่ได้รับชดใช้เงินอีก 15,000 บาท ก็เป็นการขัดแย้งกับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์จึงไม่อาจทำให้คำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ที่มีผลแล้วสิ้นผลไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น นายโสภณ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ จำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมส่งศาลฎีกา
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า เมื่อตามคำร้องของโจทก์ร่วมระบุว่า โจทก์ร่วมได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยแล้วเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายในคดีนี้จึงไม่ติดใจเอาความใดๆ กับจำเลยอีก และประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์หรือขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย และท้ายคำร้องดังกล่าวจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อด้วย พอแปลความได้ว่าโจทก์ร่วมมีความประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์แล้วหรือหากศาลไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ก็ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานเบาเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 อันเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัวเมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ คดีนี้โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา เมื่อจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งได้แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งได้เช่นกัน เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) โดยไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีก เพราะคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นอันสิ้นผลไปในตัวแม้ต่อมาโจทก์ร่วมยื่นคำแถลงว่ายังไม่ได้รับชดใช้เงินอีก 15,000 บาท ก็เป็นการขัดแย้งกับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ อีกทั้งตามคำแถลงของโจทก์ร่วมระบุเพียงว่า แถลงข้อเท็จจริงนี้ต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น คำแถลงของโจทก์ร่วมจึงไม่อาจทำให้คำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ที่มีผลแล้ว สิ้นผลไปได้”
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

Share