คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ปลอมใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 สามี นำโฉนดที่ดินจำเลยที่ 2 ไปทำนิติกรรมขายฝากโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงฟ้องขอเพิกถอนการขายฝาก ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารและฉ้อโกงเกี่ยวกับการขายฝากนั้นย่อมเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องถูกโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าขายฝากที่ดินคืนและจำเลยที่ 2 จะต้องถูกโจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นอีกดังนี้ การที่จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนการหย่าหลังจากศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนการขายฝากเพียง 20 วันเศษ และบันทึกระบุเรื่องทรัพย์สินระหว่างจำเลยทั้งสองว่าให้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาดังกล่าวเพียง 7 วันจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โจทก์ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบเหตุนี้จึงเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ปลอมหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 กับโจทก์จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝาก ต่อมาจำเลยทั้งสองจดทะเบียนหย่าขาดจากการสมรส ระบุให้ทรัพย์สินเป็นของจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียว ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าขายฝาก กับเพิกถอนการจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยทั้งสอง และแยกสินบริคณห์ออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เพื่อโจทก์บังคับชำระหนี้

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสินเดิม จำเลยที่ 2 หย่ากับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและแยกทรัพย์สินกันแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้แยกสินบริคณห์และขอให้เพิกถอนการหย่าทรัพย์สินดังกล่าวแม้จะเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ก็มีส่วนอยู่เพียงหนึ่งในสาม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การที่จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการสมรสและตกลงกันให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินสมรสแต่ผู้เดียวในภายหลังนั้น เป็นการทำให้โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ต้องเสียเปรียบ จำเลยที่ 1 ไม่มีสินเดิม จำเลยที่ 2 มีสินเดิมฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 จึงมีส่วนในทรัพย์สินสมรสนั้นหนึ่งในสาม ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ ให้โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินสมรสระหว่างจำเลยทั้งสองได้หนึ่งในสามส่วน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้ในทรัพย์สินสมรสได้กึ่งหนึ่ง

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า การจดทะเบียนหย่าสุจริต กฎหมายใหม่ไม่ได้บัญญัติให้แยกสินสมรส จึงแยกสินสมรสเพื่อให้บังคับคดีไม่ได้ ที่ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องไม่ถูกต้อง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การจดทะเบียนหย่าขาดจากการสมรส และตกลงกันให้สินสมรสตกเป็นของจำเลยที่ 2 ผู้เดียวนั้น ทำให้โจทก์เสียเปรียบทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรส แต่โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบว่า ฝ่ายใดมีสินเดิมฝ่ายใดไม่มีสินเดิม จึงต้องแบ่งสินสมรสกันคนละครึ่ง เรื่องค่าฤชาธรรมเนียมโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 จึงรับผิดต่อโจทก์ตามส่วนของทรัพย์พิพาทที่จะแยกออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น จึงพิพากษาให้แยกทรัพย์พิพาทออกเป็น 2 ส่วน เพื่อโจทก์บังคับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ร่วมใช้ค่าขึ้นศาลแก่โจทก์เท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ข้อตกลงในเรื่องแบ่งทรัพย์ให้เป็นของจำเลยที่ 2 ผู้เดียวนั้นไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ไปทำนิติกรรมขายฝากโจทก์โดยปลอมใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 จนศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการขายฝาก และต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาปลอมเอกสาร และฉ้อโกงเกี่ยวกับการขายฝากนั้นเป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องถูกโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าขายฝากที่ดินคืน และจำเลยที่ 2 จะต้องถูกฟ้องขอให้แยกสินสมรสออกเป็นส่วนของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินอื่นอีก ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการสมรสกันหลังจากศาลฎีกาพิพากษาเพิกถอนการขายฝากเพียง 20 วันเศษ และบันทึกระบุเรื่องทรัพย์สินระหว่างจำเลยทั้งสองว่า ให้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 แต่ผู้เดียวหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาดังกล่าวเพียง 7 วัน จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โจทก์ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share