คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2504/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนหรือคล้ายกันและทำให้สาธารณชนหลงผิดหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13 ศาลจะต้องพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมาย มิได้พิจารณาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังต้องพิจารณาในส่วนของเสียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนด้วย เพราะศาลต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ เป็นสำคัญว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้า หรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้านั้นได้หรือไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า MAGNUM ส่วนของบริษัท อ. เป็นอักษรไทยคำว่า แมกนั่ม จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันในเรื่องรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าแม้เสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบริษัท อ. มีเสียงเรียกขานที่เหมือนหรือคล้ายกันมาก เพราะเครื่องหมายการค้าคำว่า แมกนั่ม ของบริษัท อ. เป็นอักษรไทยที่สะกดเลียนเสียงภาษาอังกฤษคำว่า MAGNUM แต่สินค้าของโจทก์และบริษัท อ. เป็นรายการสินค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งลักษณะของการวางจำหน่ายในร้านค้าโดยทั่วไปน่าจะไม่ได้วางใกล้ชิดกันหรือบนชั้นวางสินค้าเดียวกัน ดังนั้น กลุ่มผู้บริโภคสินค้าของโจทก์กับของบริษัท อ. แม้จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะเกิดความสับสนได้
สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัท อ. ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับคำว่า MAGNUM เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เมื่อไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของบริษัท อ. เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ย่อมจะไม่ได้รับความคุ้มครองในสินค้าต่างจำพวกที่ขอจดทะเบียนไว้ และปรากฏต่อไปว่า บริษัท อ. ไม่เคยนำสินค้าประเภทชา หรือกาแฟออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้านี้ ความสับสนในหมู่ผู้บริโภคจึงไม่มี ประกอบกับโจทก์ได้ใช้คำว่า MAGNUM เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้ากับสินค้าไอศกรีมของตนในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว มิได้ประสงค์ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM เพื่อแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของบริษัท อ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค 106069, ค 106067, ค 106065, ค 106066, ค 922225, ค 106080, ค 106073, ค 147705, ค 89564, ค 89561, ค 116651 และ ค 116652 ของบริษัทโอสถสภา จำกัด ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1346/2545 และบังคับให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 เพื่อการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยประเด็นแรกที่จะพิจารณา คือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามฟ้องเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด หรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาเปรียบเทียบเครื่องหมายการค้าว่าเหมือนหรือคล้ายกันหรือไม่นี้ ศาลจะต้องพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าทั้งเครื่องหมาย มิได้พิจารณาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และยังต้องพิจารณาในส่วนของเสียงเรียกขาน ตลอดจนจำพวกและรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนด้วย เพราะศาลต้องคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ เป็นสำคัญว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มผู้บริโภคสามารถแยกแยะเจ้าของสินค้า หรือแสดงความเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับเจ้าของสินค้านั้นได้หรือไม่ สำหรับคดีนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า MAGNUM ส่วนของบริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นอักษรไทยคำว่า แมกนั่ม จึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันในเรื่องรูปลักษณะของเครื่องหมายการค้า เมื่อพิจารณาถึงเสียงเรียกขานจะพบว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบริษัทโอสถสภา จำกัด มีเสียงเรียกขานที่เหมือนหรือคล้ายกันมาก เพราะเครื่องหมายการค้าคำว่า แมกนั่ม ของบริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นอักษรไทยที่สะกดเลียนเสียงภาษาอังกฤษคำว่า MAGNUM นั่นเอง
เมื่อพิจารณาต่อไปว่า ในส่วนของกลุ่มผู้บริโภคจะสามารถแยกแยะสินค้าหรือเจ้าของสินค้าออกจากกันได้หรือไม่นั้น เห็นว่า สินค้าของโจทก์เป็นจำพวก 30 รายการสินค้า ไอศกรีม หวานเย็น ขนมแช่แข็ง และสิ่งที่ใช้ผสมในการทำไอศกรีม หรือหวานเย็น หรือขนมหวานแช่แข็ง ส่วนสินค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นสินค้าจำพวก 30 รายการสินค้า ชา กาแฟ จึงเป็นรายการสินค้าที่แตกต่างกัน ซึ่งลักษณะของการวางจำหน่ายในร้านค้าโดยทั่วไปน่าจะไม่ได้วางใกล้ชิดกัน หรือบนชั้นวางสินค้าเดียวกัน ดังนั้น กลุ่มผู้บริโภคสินค้าของโจทก์กับของบริษัทโอสถสภา จำกัด แม้จะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะเกิดความสับสนได้
ทั้งได้ความจากทางนำสืบของพยานโจทก์และฝ่ายจำเลยว่า สินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทโอสถสภา จำกัด ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวกับคำว่า MAGNUM นี้เป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เมื่อไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ย่อมจะไม่ได้รับความคุ้มครองในสินค้าต่างจำพวกที่ขอจดทะเบียนไว้ และปรากฏต่อไปตามคำเบิกความของพยานโจทก์ในทำนองว่า บริษัทโอสถสภา จำกัด ไม่เคยนำสินค้าประเภทชา หรือกาแฟออกจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้านี้ ความสับสนในหมู่ผู้บริโภคดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยมาจึงไม่มี ประกอบกับโจทก์ได้ใช้คำว่า MAGNUM เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้ากับสินค้าไอศกรีมของตนในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ประสงค์ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MAGNUM เพื่อแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด ดังนี้ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด จะมีเสียงเรียกขานคล้ายกัน แต่ก็ยังไม่เป็นเหตุที่จะทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบริษัทโอสถสภา จำกัด จนเป็นเหตุให้ไม่อาจได้รับการจดทะเบียนได้
พิพากษากลับว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 ของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วของบริษัทโอสถสภา จำกัด ทะเบียนเลขที่ ค 106069, ค 106067, ค 106065, ค 106066, ค 922225, ค 106080, ค 106073, ค 147705, ค 89564, ค 89561, ค 116651 และ ค 116652 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1346/2545 และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 368774 ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share