คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดูแลการเงินของร้านทรงสมัยพิษณุโลก สาขาของโจทก์ เงินรายได้ของร้านที่จำเลยรับไว้โดยผู้จัดการสาขาดังกล่าวนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อให้จำเลยนำส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์จึงตกเป็นของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินรายได้ดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่ไม่นำส่ง กลับเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยเบียดบังเอาเงินของโจทก์ที่สาขาพิษณุโลก ซึ่งผู้จัดการสาขานำฝากเข้าบัญชีของจำเลย เพื่อให้จำเลยนำส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ อันเป็นเงินรายได้ของเดือนตุลาคม 2540 จำนวน 255,174 บาท เดือนพฤศจิกายน 2540 จำนวน 133,132 บาท เดือนธันวาคม 2540 จำนวน 93,463 บาท เดือนมกราคม 2541 จำนวน 218,603 บาท เดือนกุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 134,264 บาท เดือนมีนาคม 2541 จำนวน 148,544 บาท และเดือนเมษายน 2541 จำนวน 70,918 บาท รวมเป็นเงิน 1,054,098 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประกอบกิจการขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรับตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านทรงสมัยพิษณุโลก เป็นสาขาของโจทก์ มีนางประไพ มาอยู่เป็นผู้จัดการสาขา ในแต่ละวันนางประไพมีหน้าที่นำเงินรายได้ของร้านทรงสมัยพิษณุโลก เข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อระหว่างวันที่ 2 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2541 นางประไพนำเงินรายได้ของร้านดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยรวมเป็นเงิน 1,041,842 บาท ตามใบฝากเงินเอกสารหมาย จ.3 โดยหักยอดเงินตามใบฝากเงินเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 6 ออกเพราะเป็นการนำเงินเข้าบัญชีของนางวิมลมาศ ซึ่งมิใช่บัญชีของจำเลย แต่จำเลยไม่นำส่งเงินรายได้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้โจทก์มีนายสรรค์วิช กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และนางประไพ ผู้จัดการสาขาพิษณุโลก เป็นพยาน โดยนายสรรค์วิชเบิกความว่า จำเลยมีหน้าที่ดูแลการเงินของโจทก์ที่สาขาพิษณุโลก แล้วจำเลยต้องนำส่งเงินรายได้ในแต่ละวันที่นางประไพผู้จัดการสาขานำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพิษณุโลก ไปให้โจทก์ที่กรุงเทพมหานครอย่างน้อยเดือนละครั้ง ส่วนนางประไพเบิกความว่า เมื่อนำเงินรายได้เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพิษณุโลก แล้ว พยานต้องส่งใบฝากเงินไปที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ด้วยตามใบฝากเงินเอกสารหมาย จ.3 เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะเบิกความสอดคล้องต้องกันแล้ว ยังมีรายละเอียดสอดคล้องกับใบฝากเงินตามเอกสารหมาย จ.3 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยนำสืบและฎีกาอ้างว่า เดิมจำเลยและนายสรรค์วิชร่วมกันเปิดร้านพีเซ็นเตอร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อร้านเป็นทรงสมัยพิษณุโลก และตกลงกันว่าให้จำเลยดูแลร้านทรงสมัยพิษณุโลก เพียงผู้เดียว ส่วนนายสรรค์วิชดูแลร้านทรงสมัยในกรุงเทพมหานคร เงินรายได้ของร้านทรงสมัยพิษณุโลก จึงตกเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว จำเลยย่อมมีอำนาจนำเงินไปใช้จ่ายได้เช่นเดียวกับนายสรรค์วิชมีอำนาจใช้จ่ายเงินของโจทก์และสาขาอื่นๆ ในกรุงเทพมหานคร จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์เป็นของตนนั้น เห็นว่า เมื่อร้านทรงสมัยพิษณุโลกเป็น สาขาของโจทก์ ปกติเงินรายได้ของร้านควรเป็นของโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่า มีข้อตกลงให้เงินรายได้ของร้านตกเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียวคงมีแต่จำเลยเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนจึงไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า เงินรายได้ของร้านทรงสมัยที่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้ว จำเลยจะโอนไปเข้าบัญชีที่ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด สาขาเยาวราช ซึ่งมีจำเลยและหรือนายสรรค์วิชเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนหากเงินรายได้ดังกล่าวเป็นของจำเลยจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จำเลยจะต้องโอนเงินของจำเลยไปเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด สาขาเยาวราช ซึ่งนายสรรค์วิชก็มีสิทธิเบิกถอนเงินดังกล่าวได้ ข้อนำสืบของจำเลยจึงขัดต่อเหตุผลไม่น่าเชื่อเช่นกัน พยานจำเลยไม่อาจรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดูแลการเงินของร้านทรงสมัยพิษณุโลก สาขาของโจทก์ เงินรายได้ของร้านที่จำเลยรับไว้จึงตกเป็นของโจทก์จำเลยมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินรายได้ดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่ไม่นำส่งจำเลยกลับเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share