แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพาทก่อนขายให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่เพียงใด โดยประเด็นทั้งสองข้อนี้เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นฝ่ายกล่าวอ้างภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง และที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่า ขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1369 ว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตน จึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ประกอบทั้งได้พิจารณาพยานหลักฐานในประเด็นทั้งสองนี้แล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยร่วมกัน แม้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบก่อน จำเลยก็ถามค้านให้พยานโจทก์มีโอกาสอธิบายและนำสืบถึงข้อความเหล่านั้นโดยบริบูรณ์แล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองหาเสียเปรียบไม่ ศาลล่างทั้งสองหาได้ดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 84 ไม่ และไม่เป็นการพิจารณาผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่อย่างใด
สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากดังกล่าวจึกตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย เมื่อสัญญาขายฝากนี้เป็นโมฆะแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายฝากสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝาก แต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน ฉะนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากครบกำหนดไถ่ก็ตาม แต่ก็เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่พิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ร่วมทั้งสองผู้โอน ไม่ว่าโจทก์จะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2537 โจทก์ซื้อที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 170/98 หมู่ที่ 11 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ จากนายชุบและนางวาดโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวน 4,000,000 บาท และได้รับการส่งมอบการครอบครองที่ดินแล้ว เมื่อปลายปี 2537 จำเลยและบริวารเข้าครอบครองปลูกสร้างกระต๊อบและขุดลอกที่ดินทำบ่อเลี้ยงกุ้งปลาในที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ดินดังกล่าวโจทก์สามารถให้บุคคลอื่นเช่าในอัตราค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากที่ดิน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ปรับสภาพที่ดินให้คืนสภาพเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย และให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อัตราเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ปรับสภาพที่ดินและออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 170/98 หมู่ที่ 11 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2517 ตลอดมาและไม่เคยแสดงเจตนาสละสิทธิ นายชุบและนางวาดจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว โจทก์กับนายชุบและนางวาดไม่ได้ซื้อขายที่ดินพิพาทกันจริง แต่ทำสัญญาซื้อขายที่ดังกล่าวโดยมีเจตนาฉ้อฉลจำเลย โจทก์ทราบว่าสัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะ นายชุบและนางวาดไม่สามารถฟ้องบังคับจำเลยตามสัญญาขายฝากได้ จึงสมคบกับนายชุบและนางวาดทำสัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อจะใช้สัญญาซื้อขายที่ดินนั้นมาฟ้องขับไล่จำเลย โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกนายชุบและนางวาดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2533 จำเลยนำที่ดิน ส.ค. 1 เลขที่ 170/98 หมู่ที่ 11 ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มาขายฝากแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ตกลงว่าหากไม่ไถ่ถอนภายในกำหนดยอมให้ที่ดินหลุดเป็นสิทธิของโจทก์ร่วมทั้งสอง แต่จำเลยไม่ได้ไถ่ถอนภายในกำหนด ต่อมาโจทก์ร่วมทั้งสองขายที่ดินดังกล่าวให้โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองให้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง ประการแรกว่า ศาลล่างทั้งสองพิจารณาในลักษณะให้ภาระนำสืบตกแก่โจทก์เป็นทำนองว่าทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบทางคดี ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 และเป็นการพิจารณาผิดระเบียบตามมาตรา 27 นั้น ข้อนี้ได้ความว่า ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทก่อนขายให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด โดยประเด็นทั้งสองข้อนี้ เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์ย่อมตกแก่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง และที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) แต่แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้แต่เพียงว่า ขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หาใช่อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตามนัยที่บัญญัติไว้ใรประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองแต่อย่างใดไม่ จำเลยเป็นฝ่ายยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1369 ว่า จำเลยยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ประกอบทั้งได้พิจารณาพยานหลักฐานในประเด็นทั้งสองนี้แล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยร่วมกัน แม้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองนำสืบก่อน จำเลยก็ถามค้านให้พยานโจทก์มีโอกาสอธิบายและสำสืบถึงข้อความเหล่านั้นโดยบริบูรณ์แล้ว โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองหาเสียเปรียบไม่ ศาลล่างทั้งสองหาได้ดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 ไม่ และไม่เป็นการพิจารณาผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 แต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาประการหลังว่า จำเลยหาได้ครอบครองที่ดินพิพาทระหว่างปี 2534 ถึงก่อนปลายปี 2537 แต่เพิ่งเข้ามาครอบครองที่ดินพิพาทในปลายปี 2537 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พ้นกำหนดไถ่ถอนและสัญญาขายฝากได้สิ้นสุดไปหลายปีแล้ว และเป็นช่วงเวลาภายหลังที่โจทก์ซื้อเดือนกันยายน 2537 จากโจทก์ร่วมทั้งสอง บ่งชี้ชัดว่าจำเลยตกลงให้สิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองในวันทำสัญญาจริง และถ้าไม่ไถ่ถอนในกำหนดให้หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง กรณีจึงถือข้อความในสัญญาขายฝากถูกต้องตามเจตนาคู่กรณีให้ใช้บังคับผูกพันตามสัญญาและว่าจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น ในปัญหาที่ว่า จำเลยสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ร่วมทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า สัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสองกับจำเลย ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาขายฝากดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการขายฝากเกิดขึ้นเลย เมื่อสัญญาขายฝากนี้เป็นโมฆะแล้ว โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมจะอ้างสิทธิการได้มาโดยการครอบครองโดยนิติกรรมการขายฝากนั้นไม่ได้ เพราะการขายฝากมิใช่ว่าผู้ขายสละเจตนาครอบครองโดยเด็ดขาดให้แก่ผู้ซื้อฝากแต่ผู้ขายฝากมอบที่ดินโดยมีเงื่อนไขว่าวันหลังจะเอาคืน ฉะนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์ร่วมทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากวันครบกำหนดไถ่ก็ตาม แต่ก็เป็นการครอบครองโดยอาศัยอำนาจของจำเลยเพื่อทำการตัดไม้โกงกางไปเป็นประโยชน์เท่านั้น โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ส่วนข้อสัญญาข้อ 2 ที่ว่า ถ้าไม่ไถ่ถอนในกำหนดให้หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ร่วมทั้งสองนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมทั้งสองมีเจตนาแท้จริงเพียงการขายฝากดังวินิจฉัยข้างต้นและพันตำรวจตรีพิสุทธิ์ พยานโจทก์เบิกความว่า โจทก์และจำเลยมาที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคลองด่านเพื่อตกลงกัน พยานได้ทำบันทึกไว้ ซึ่งสรุปได้ว่า จำเลยอ้างว่าหลังจากมีการติดต่อไถ่คืน โจทก์ร่วมที่ 2 ผัดผ่อนอ้างว่าได้นำ ส.ค. 1 ไปฝากไว้กับญาติ ไม่อาจให้ไถ่ได้ ส่วนโจทก์ร่วมที่ 2 อ้างว่า หลังจากวันสิ้นสุดสัญญา จำเลยได้มาติดต่อขอไถ่คืน โจทก์ร่วมที่ 2 ได้เลื่อนนัดไปอีก 3 วัน เมื่อครบกำหนดจำเลยได้มาขอไถ่คืน โจทก์ร่วมที่ 2 ให้ไถ่ถอนในราคา 6 ล้านบาท จำเลยแจ้งว่าไม่มีปัญญาไถ่ พยานปากนี้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐทำการตามหน้าที่ราชการไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความฝ่ายใด นับเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความจึงมีน้ำหนักเชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยหาได้ยึดถือข้อความในสัญญาข้อ 2 กันจริงจังแต่ประการใดไม่ ประกอบกับสัญญาขายฝากเป็นแบบพิมพ์สัญญาสำเร็จรูป ซึ่งนายจำปี ผู้เขียนสัญญาเบิกความว่า โจทก์ร่วมที่ 2 บอกว่าไม่ได้นำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินมาแต่มีหนังสือสัญญาขายฝากมาด้วย จึงให้ทำเป็นสัญญาขายฝาก ซึ่งจำเลยอาจไม่ได้อ่านข้อความโดยละเอียดก็เป็นได้ แม้หลังจากครบกำหนดไถ่จำเลยจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทและยังไม่ได้ไถ่ที่ดินพิพาทคืนมาก็ตาม สิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นของจำเลยอยู่ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมทั้งสองดังที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมทั้งสองได้บอกกล่าวเปลี่ยนแปลงการยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเองให้จำเลยทราบแต่ประการใด โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ร่วมทั้งสองผู้โอนไม่ว่าโจทก์จะรับโอนโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งอื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องต้องกันมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ