คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6136/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ค่าขาดประโยชน์เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลย สิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่จำเลยผิดสัญญา ดังนั้น โดยนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงชอบจะฟ้องเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าขาดประโยชน์เอาแก่จำเลยนับแต่วันฟ้องซึ่งเป็นวันในระหว่างเวลาที่จำเลยผิดนัดได้
แม้ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ มาตรา 11 ทวิ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนใช้ความถี่วิทยุ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุที่ไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวันนับแต่วันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุข้อ 6.3 ก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมของโจทก์ โดยจำเลยต้องชำระค่าเช่าเดือนละ 300 บาท จำนวน 2 เครื่อง เป็นเงิน 600 บาท ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน และจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ กฎหมายระเบียบและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และต้องรับผิดในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดนั้นๆ ด้วย ดังนั้น ประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าว จึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุให้โจทก์ตามสัญญาจำเลยต้องเสียค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวันนับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระเสร็จ เงินค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยสัญญาว่าจะใช้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จากโจทก์จำนวน 2 เครื่อง ระยะเวลาการเช่า 1 ปี มีข้อสัญญาว่า จำเลยจะชำระค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวเป็นเงินเครื่องละ 300 บาท ต่อเดือน ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนและจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 กฎหมายระเบียบและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว จำเลยยังคงใช้บริการวิทยุคมนาคมอยู่ต่อไปให้ถือว่าจำเลยตกลงเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ต่อไปจนกว่าจะมีการเลิกสัญญา ต่อมามีประกาศกระทรวงคมนาคมซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป ทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้ความถี่วิทยุคมนาคมต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเป็นรายปีภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนด หากไม่ชำระหรือชำระเมื่อเกินกำหนดเวลาต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่เพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อวัน ของค่าตอบแทนดังกล่าวนับถัดจากวันครบกำหนดชำระจนถึงวันชำระเสร็จ ซึ่งจำเลยจะต้องชำระเงินค่าตอบแทนในอัตราปีละ 3,200 บาท นับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2539 จำเลยเริ่มผิดสัญญาเช่าโดยค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม 2535 เป็นต้นมา และไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุภายในกำหนดเวลา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปการณ์คืนให้แก่โจทก์และต้องชำระเงินตามสัญญาเช่าภายในวันที่ 29 กรกฎาคม 2539 โดยจำเลยค้างค่าเช่าเดือนละ 600 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2535 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 เป็นเงิน 28,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ของทุกเดือนของเงินค่าเช่าถึงวันฟ้องเป็นเงิน 17,021.50 บาท รวมเป็นเงิน 45,821.50 บาท ค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ปี 2539 จำนวน 3,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันพ้นกำหนด 60 วัน ที่จำเลยได้รับหนังสือจากโจทก์ แต่โจทก์ขอคิดตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 772.50 บาท รวมเป็นเงิน 3,972.50 บาท ค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราวันละ 32 บาท โดยโจทก์ขอคิดตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2542 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 37,632 บาท จำเลยต้องส่งคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ให้โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเครื่องละ 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2539 ถึงวันฟ้อง รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 34,559.18 บาท และจำเลยต้องชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เนื่องจากไม่ส่งเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ทั้ง 2 เครื่อง คืนให้แก่โจทก์ โดยโจทก์คิดค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดค่าเช่าในแต่ละงวด รวมเงินต้นและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 51,918.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์วิทยุคมนาคม จำนวน 2 เครื่อง แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงินเครื่องละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 43,200 บาท และชำระค่าตอบแทนจำนวน 3,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีคำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ของทุกเดือน ของเงินค่าเช่าที่ค้างชำระเดือนละ 600 บาท ในแต่ละเดือน นับแต่เดือนสิงหาคม 2535 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 แต่รวมทุกเดือนแล้วดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 17,021.50 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จากโจทก์ แล้วค้างชำระค่าเช่าตั้งแต่งวดเดือนสิงหาคม 2535 เป็นต้นมา ทั้งไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุภายในกำหนดเวลาอันเป็นการผิดสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาให้จำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์คืนแก่โจทก์จำเลยยังไม่ได้ส่งมอบคืนให้โจทก์และจำเลยค้างชำระค่าเช่าเดือนละ 600 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2535 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 เป็นเงิน 28,800 บาท ค้างชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเป็นเงิน 3,200 บาท ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปการณ์คืนแก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 43,200 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มแก่โจทก์โดยเห็นว่าค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มเป็นเบี้ยปรับ จึงกำหนดให้ตามสมควรเป็นเงิน 3,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ
คดีมีปัญหาเฉพาะข้อความข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยของค่าขาดประโยชน์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา หรือไม่ เห็นว่า ค่าขาดประโยชน์เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่งอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลย สิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ของโจทก์ที่มีต่อจำเลยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่จำเลยผิดสัญญา ดังนั้น โดยนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงชอบจะฟ้องเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินค่าขาดประโยชน์เอาแก่จำเลย นับแต่วันฟ้องซึ่งเป็นวันในระหว่างเวลาที่จำเลยผิดนัดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าดอกเบี้ยในส่วนนี้ให้โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า การกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม ในกรณีที่ไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 11 ทวิ ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนใช้ความถี่วิทยุ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุที่ไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวันนับแต่วันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระแล้วเสร็จตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ข้อ 6.3 ก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมของโจทก์ โดยจำเลยต้องชำระค่าเช่าเดือนละ 300 บาท จำนวน 2 เครื่อง เป็นเงิน 600 บาท ภายในวันที่ 10 ของ ทุกเดือน และจำเลยจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 กฎหมาย ระเบียบ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด และต้องรับผิดในกรณีที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุจึงเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวัน นับถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันที่ชำระเสร็จเงินค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยสัญญาว่าจะใช้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นเบี้ยปรับเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินค่าขาดประโยชน์จำนวน 43,200 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share