คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7951/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้ามีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟังรอการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้จัดเป็นความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว…” ข้อเท็จจริงได้ความว่า การโต้แย้งเขตอำนาจศาลของจำเลยในคดีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การ ไม่ได้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลแต่อย่างใด ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นที่รับคำฟ้องเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้นตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ฯ มาตรา 10 วรรคสาม ซึ่งชอบที่จะเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้กระทำตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ทั้งกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นเองว่าอยู่ในอำนาจของศาลนั้นเองก็ไม่ใช่กรณีที่ถือได้ว่า มีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่งและวรรคสาม จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครองตามขั้นตอนของกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกประกาศสอบราคาปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ โจทก์เสนอราคาตามประกาศดังกล่าว และเป็นผู้สอบราคาได้ ต่อมาจำเลยเรียกโจทก์เข้าทำสัญญาซื้อขายปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ในราคา 240,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โจทก์ได้ส่งมอบปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ให้แก่จำเลยตามสัญญาและจำเลยได้รับปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ไว้แล้ว แต่จำเลยกลับไม่ยอมตรวจรับสินค้าโดยอ้างเหตุว่าสินค้าของโจทก์เป็นของเก่าเก็บ และบอกเลิกสัญญาซื้อขาย อันเป็นการกระทำผิดสัญญาต่อโจทก์ ขอให้จำเลยตรวจรับปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ และชำระเงินค่าปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ให้แก่โจทก์ 273,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 240,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ คดีนี้เป็นคดีปกครอง โดยเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เนื่องจากเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองคือเทศบาลเมืองป่าตอง และมีลักษณะเป็นสัญญาซึ่งจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค คือสัญญาซื้อขายปั๊มน้ำเพื่อใช้กับรถน้ำในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอันเป็นงานสาธารณูปโภค โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลนี้ จำเลยมิได้ผิดสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลย เนื่องจากปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยนั้นมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และจำเลยได้บอกเลิกสัญญาต่อโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคดีสืบพยานโจทก์จำเลย และวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นตลอดจนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยตามประเด็นข้อพิพาทแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับและให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานผิดสัญญาซื้อขาย โดยโจทก์อ้างว่าได้ส่งมอบปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ตรงตามคุณสมบัติที่จำเลยได้ประกาศสอบราคาซื้อปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์แล้วแต่จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมรับทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยต้องชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า ปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์เป็นของเก่าเก็บไม่ใช่ของใหม่เป็นการผิดสัญญาซื้อขาย จำเลยจึงไม่ยอมรับ จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา เห็นได้ว่าตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยมีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญายังมีข้อเท็จจริงให้วินิจฉัยว่า ปั๊มน้ำอลูมิเนียมอัลลอยด์ที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยนั้นเป็นของเก่าเก็บหรือไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นตลอดจนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยตามประเด็นข้อพิพาท แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีปกครองจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง มิใช่ศาลยุติธรรมนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่นในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว…” ข้อเท็จจริงจึงได้ความว่า การโต้แย้งเขตอำนาจศาลของจำเลยในคดีนี้เป็นการโต้แย้งไว้ในคำให้การ ไม่ได้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครองตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นที่รับคำฟ้องเห็นเองเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลนั้น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคสาม ซึ่งชอบที่จะเป็นกรณีที่ศาลเห็นเองว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลอื่น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยมิได้กระทำตามวิธีการที่กฎหมายกำหนด ทั้งกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นเองว่าอยู่ในอำนาจของศาลนั้นเองก็ไม่ใช่กรณีที่ถือได้ว่า มีปัญหาขัดแย้งกันเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นตลอดจนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยตามประเด็นข้อพิพาทแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ดังนั้น แม้ฎีกาของจำเลยจะขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และให้ยกคำฟ้องของโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ศาลฎีกาก็มิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี ทั้งตามรูปคดีคู่ความยังต้องนำสืบพยานในประเด็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ศาลจึงจะพิพากษาคดีได้ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจำนวน 6,825 บาท เป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินมาไม่ถูกต้องจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาเป็นเงิน 6,625 บาท ให้แก่จำเลย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ และให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาให้แก่จำเลยเป็นเงิน 6,625 บาท

Share