คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7778/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้เดิมศาลชั้นต้นจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลงโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก็ตาม แต่ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมีคำสั่งใหม่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา เท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 แต่เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้ทันทีตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 18 โดยต้องอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 (3) วรรคสอง แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 เพิ่งอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายเกือบ 2 ปี จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์ในปัญหาส่วนฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว จึงถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลง มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ตามที่โจทก์ล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นแล้ว
ที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกัน เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. บิดาของจำเลยที่ 1 และ ส. และตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาก็ยอมรับว่าบ้านเลขที่ 38 ที่ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์นั้น จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว และพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้พร้อมกับบุตรซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย ตั้งแต่ที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 แล้ว จ. จึงยกที่ดินส่วนที่มีบ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 19367 และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19368 จึงทำให้บ้านเลขที่ 38 ของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาจากการรับซื้อฝากจาก ว. หลานของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องแย้งไม่ เพราะเห็นได้ว่าเป็นการครอบครองฉันญาติพี่น้องตามที่ครอบครองมาแต่เดิม มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองเพื่อเอากรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกบ้านเลขที่ 38 แต่ จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างและอยู่อาศัยมาก่อนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ซึ่งต่อมาตกเป็นของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านเลขที่ 38 ซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ แต่บ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นของโจทก์ จึงต้องถือว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นการปลูกรุกล้ำโดยสุจริต กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 38 ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้เพราะมิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิในที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านรุกล้ำเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องโดยใช้สิทธิดังกล่าวบังคับจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับซื้อฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี จากนางสาววดารัตน์และพ้นกำหนดเวลาไถ่ถอนแล้ว โจทก์รังวัดสอบเขตที่ดินดังกล่าวพบว่าจำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ คิดเป็นเนื้อที่ 60 ตารางวา โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านออกไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือนละ 10,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนบ้านดังกล่าวออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เพราะโจทก์ใช้กลฉ้อฉลหลอกลวงนางสาววดารัตน์ให้จดทะเบียนขายฝากแก่โจทก์ สัญญาขายฝากไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เดิมที่ดินเป็นของนายสมจิตต์แต่ใส่ชื่อนางสาววดารัตน์เป็นเจ้าของที่ดินแทนและนายสมจิตต์ได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองครอบครองทำนาและปลูกบ้านอยู่กันมาตั้งแต่แต่งงานโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 40 ปี จำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้องและขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ซื้อฝากที่ดินมาจากนางสาววดารัตน์โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน นายสมจิตต์มิได้เป็นเจ้าของที่ดินมาก่อน หากแต่เป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่จำเลยทั้งสองปลูกสร้างบ้านและจำเลยทั้งสองครอบครองดูแลแทนนายสมจิตต์ มิได้ครอบครองเพื่อตน และจำเลยที่ 1 เอง ก็ไม่ทราบว่าบ้านปลูกรุกล้ำ จึงไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองปรปักษ์ฟ้องแย้งไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งใหม่ว่า รับคำให้การของจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องแย้งให้รับเฉพาะในส่วนที่พิพาทกันตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 บุกรุกเนื้อที่ 60 ตารางวา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะไปใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ให้หักค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ไว้ 200 บาท ส่วนที่เหลือให้คืนแก่จำเลยที่ 1 ทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 3 ไร่ และบ้านเลขที่ 38 ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน โจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา โดยโจทก์ซื้อฝากมาจากนางสาววดารัตน์ซึ่งมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในขณะทำนิติกรรมขายฝากให้โจทก์ในราคา 1,200,000 บาท และพ้นกำหนดเวลาไถ่ถอนแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 และ 19368 อยู่ติดกันและเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันโดยแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเป็นของนายจันทร์หรือจันบิดาของจำเลยที่ 1 และนายสมจิตต์ซึ่งนายสมจิตต์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนของนางสาววดารัตน์ก่อนแบ่งแยกออกมาเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 19368 ส่วนบ้านเลขที่ 38 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ประมาณ 60 ตารางวา ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลงจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แล้ว ที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งเพียงบางส่วนเฉพาะในส่วนที่ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไป 60 ตารางวา และยกฟ้องแย้งจึงไม่ถูกต้อง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่ารูปคดีตามคำฟ้องและคำให้การไม่มีเรื่องการครอบครองปรปักษ์ เพราะการครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น แต่ที่ดินตามที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าครอบครองปรปักษ์นั้นเป็นที่ดินนายสมจิตต์ซึ่งยกให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ครอบครองตลอดมาตั้งแต่นายสมจิตต์ยกให้ จึงเป็นการครอบครองที่ดินของตนเอง มิใช่เป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่น คดีจึงไม่มีประเด็นจะต้องพิจารณาว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าครอบครองปรปักษ์ในที่ดินส่วนที่บุกรุก 60 ตารางวา และส่วนที่อยู่นอกเนื้อที่ 60 ตารางวา จึงถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่รับวินิจฉัยให้นั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่เห็นด้วย เพราะจำเลยที่ 1 ได้กล่าวชัดแจ้งในฟ้องแย้งแล้วว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 เป็นของนายสมจิตต์ แต่ใส่ชื่อนางสาววดารัตน์เป็นเจ้าของแทนแล้วนายสมจิตต์ได้ยกที่ดินแปลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยวาจาและจำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการทำนาด้วยความสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมากว่า 40 ปีแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ทั้งแปลงหาใช่ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนที่ปลูกบ้านรุกล้ำเนื้อที่ 60 ตารางวา เท่านั้นไม่ คดีจึงมีประเด็นเรื่องครอบครองปรปักษ์ตั้งแต่ศาลชั้นต้นแล้วนั้น เห็นว่า แม้เดิมศาลชั้นต้นจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลงโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ก็ตาม แต่ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 และมีคำสั่งใหม่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา เท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แต่เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้ทันที ตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 18 โดยต้องอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 และ 228 (3) วรรคสอง แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 เพิ่งอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายเกือบ 2 ปี จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์ในปัญหาส่วนฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว จึงถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลงมิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ ตามที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นแล้ว จึงมีประเด็นเรื่องการครอบครองตามบทกฎหมายดังกล่าว หาใช่ไม่มีประเด็นดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีความเห็นไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้ให้จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 จึงฎีกาในปัญหาฟ้องแย้งในส่วนนี้ได้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านรุกล้ำที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกัน เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายจันหรือจันทร์ บิดาของจำเลยที่ 1 และนายสมจิตต์ และตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาก็ยอมรับว่าบ้านเลขที่ 38 ที่ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์นั้น นายจันทร์บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว และพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้พร้อมกับบุตรซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วยตั้งแต่ที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 แล้วนายจันทร์จึงยกที่ดินส่วนที่มีบ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 19367 และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19368 จึงทำให้บ้านเลขที่ 38 ของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา ที่จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ปลูกสร้างบ้านเลขที่ 38 จึงขัดแย้งกับที่จำเลยที่ 1 นำสืบ การที่จำเลยที่ 1 พักอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 38 ตลอดมาจนนายจันทร์ ยกที่ดินและบ้านเลขที่ 38 ให้จำเลยที่ 1 แล้วได้มีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แม้บ้านเลขที่ 38 บางส่วนเนื้อที่ 60 ตารางวา รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาจากการรับซื้อฝากจากนางสาววดารัตน์หลานของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องแย้งไม่ เพราะเห็นได้ว่าเป็นการครอบครองฉันญาติพี่น้องตามที่ครอบครองมาแต่เดิมมิใช่เป็นการแย่งการครอบครองเพื่อเอากรรมสิทธิ์แต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากพฤติการณ์ที่แสดงต่อกัน ตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 โดยนายสมจิตต์ได้ยกที่ดินส่วนของตนในโฉนดเลขที่ 1006 บางส่วนให้แก่นางสาววดารัตน์ โดยเสน่หา ซึ่งต่อมาได้แบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ดังกล่าว โดยยกให้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 ตามสารบัญจดทะเบียนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ลงวันที่ดังกล่าว และเมื่อมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 19368 ออกเป็นของนางสาววดารัตน์ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2538 แล้ว นางสาววดารัตน์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวไว้แก่นายประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2539 และได้ไถ่ถอนจำนองแล้วนำไปขายฝากแก่โจทก์ในวันเดียวกันมีกำหนด 1 ปี ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 ซึ่งการทำนิติกรรมจำนองและขายฝากต้องไปกระทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินที่สำนักงานที่ดิน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็นำสืบยอมรับว่าไม่ได้ทำการโต้แย้งแสดงว่าตนเองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ว่าทั้งแปลงหรือเฉพาะส่วนที่ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวาแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งโต้แย้งอ้างเรื่องการครอบครองปรปักษ์โดยการฟ้องแย้งเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ในส่วนที่ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา จึงรับฟังไม่ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรื้อถอนบ้านเลขที่ 38 ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แม้บ้านเลขที่ 38 จะปลูกก่อนมีการแบ่งแยกที่ดินออกจากโฉนดที่ดินเดิมแต่จำเลยที่ 1 เป็นคนแบ่งที่ดินเอง กลับแบ่งที่ดินให้บ้านเลขที่ 38 ซึ่งตกเป็นของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ต้องรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกไปนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกบ้านเลขที่ 38 แต่นายจันทร์บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างและอยู่อาศัยมาก่อนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ซึ่งต่อมาตกเป็นของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านเลขที่ 38 ซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ แต่บ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นของโจทก์ จึงต้องถือว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นการปลูกรุกล้ำโดยสุจริต หาใช่เป็นการปลูกรุกล้ำโดยไม่สุจริตตามที่โจทก์ฎีกาไม่ กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 38 ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ออกไปจากที่ดินโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้เพราะมิใช่กรณีจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าโจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิในที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านรุกล้ำเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องโดยใช้สิทธิดังกล่าวบังคับจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะไปใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมโจทก์และจำเลยที่ 1 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share