คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7017/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures) ชื่อบริษัทในเครือเป็นชื่อทางการค้า และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ในต่างประเทศ ก่อนที่จำเลยที่ 1 เริ่มใช้ชื่อนิติบุคคลของตน และจำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งโจทก์ดำเนินธุรกิจการค้าครอบคลุมไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย โจทก์จึงมีสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” ในประเทศไทยดีกว่าจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ ทั้งยังมีการใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล” ในการดำเนินธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลว่า “บริษัทยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด” จึงทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “UPT Universal Pictures (Thailand) Co., Ltd.” ซึ่งมีคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures) รวมอยู่ด้วย ย่อมจะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเข้าใจได้ว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องทางการค้ากับโจทก์ โจทก์ในฐานะที่ใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการในคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” มาก่อน ย่อมจะมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อนิติบุคคลได้ แม้ปัจจุบันนี้โจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนสาขาชื่อเดียวกันในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะไม่มีการประกอบธุรกิจการค้าในประเทศไทย อันจะทำให้เป็นการไม่มีการแข่งขันกับกิจการของโจทก์สำหรับการพิจารณาว่าสาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดหรือไม่ นั้น ศาลย่อมพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในสำนวน รวมทั้งคำเบิกความของพยานบุคคลและวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องรับฟังเฉพาะความรู้สึกหรือความเข้าใจของพยานบุคคลที่นำเข้าสืบเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 โดยห้ามใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส” และอักษรโรมันคำว่า “Universal Pictures” กับชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 เพียงแต่ให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส” และอักษรโรมันคำว่า “Universal Pictures” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และไม่อาจกระทำได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) เป็นเหตุให้ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ยุติการใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส” และอักษรโรมันคำว่า “Universal Pictures” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
อนึ่งโจทก์แก้อุทธรณ์โดยขอให้แก้ไขคำพิพากษาที่ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกับขอให้จำเลยที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและให้เหตุผลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้องและต้องการขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขในประเด็นดังกล่าว โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มิใช่เพียงตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ ทั้งกรณีหาใช่เป็นเรื่องที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามที่โจทก์กล่าวอ้างด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการคำว่า “Universal” และ “Universal Pictures” ดีกว่าจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทหรือจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “UPT Universal Pictures (Thailand) Co., Ltd.” คำขอเลขที่ 481081 ออกจากทะเบียนกรมทรัพย์สินทางปัญญา ห้ามจำเลยทั้งสองใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล”, “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส” และอักษรโรมันคำว่า “Universal”, “Universal Pictures” กับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการและสินค้าหรือบริการหรือวัสดุอื่นใดในการประกอบธุรกิจของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะเพิกถอนชื่อหรือจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 และยุติการกระทำละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 481081
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในคำว่า “Universal Pictures” ดีกว่าจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 โดยห้ามใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส” และอักษรโรมันคำว่า “Universal Pictures” กับชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการและสินค้าหรือบริการหรือวัสดุอื่นใดในการประกอบธุรกิจของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 5,000 บาท นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 กรกฎาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ เมื่อคดีนี้มีข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” เป็นชื่อบริษัทในเครือ เป็นชื่อทางการค้า และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ในต่างประเทศ ส่วนจำเลยที่ 1 เริ่มใช้ชื่อนิติบุคคลของตน และจำเลยที่ 2 ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” มาก่อนจำเลยทั้งสอง ซึ่งโจทก์ดำเนินธุรกิจการค้าครอบคลุมไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย โจทก์จึงมีสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” ในประเทศไทยดีกว่าจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับโจทก์ ทั้งยังมีการใช้ชื่อว่า “ยูนิเวอร์แซล” ในการดำเนินธุรกิจ ย่อมจะเห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลว่า “บริษัทยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด” ทำให้โจทก์เสื่อมเสียประโยชน์และหากยังคงปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ความเสียหายก็จะคงมีอยู่ต่อไป สำหรับการที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “UPT Universal Pictures (Thailand) Co., Ltd.” ซึ่งมีคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” รวมอยู่ด้วยย่อมจะทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องทางการค้ากับโจทก์ ดังจะเห็นได้จากวัตถุพยานทั้งจำเลยที่ 2 ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า เคยเห็นคำว่า “ยูนิเวอร์แซล” จากภาพยนตร์ที่ดู ซึ่งเป็นรูปลูกโลก และคำว่า “ยูนิเวอร์แซล” ประกอบกัน นอกจากนี้จำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์ในทำนองว่า แม้จะเคยเห็นโจทก์ใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” ในต่างประเทศ แล้วจำเลยทั้งสองนำมาใช้ก็มีสิทธิทำได้ ทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่ามีบุคคลอื่นใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” เกี่ยวกับภาพยนตร์อยู่แล้วอันเป็นเจตนาไม่สุจริตในการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณจากคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” ของโจทก์ ซึ่งโจทก์ในฐานะที่ใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการในคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส (Universal Pictures)” มาก่อน ย่อมจะมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้คำดังกล่าวเป็นชื่อนิติบุคคลได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 แม้ปัจจุบันนี้โจทก์จะไม่ได้จดทะเบียนสาขาชื่อเดียวกันในประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโจทก์จะไม่มีการประกอบธุรกิจการค้าในประเทศไทย อันจะทำให้เป็นการไม่มีการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ตามที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์โต้แย้ง หรือจะทำให้โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองในชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ ตามกฎหมายแต่อย่างใดไม่ สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่า พยานโจทก์ไม่อาจยืนยันได้ว่าสาธารณชนสับสนหลงผิดนั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าสาธารณชนเกิดความสับสนหลงผิดหรือไม่นั้นศาลย่อมพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ปรากฏในสำนวนรวมทั้งคำเบิกความของพยานบุคคลและวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องรับฟังเฉพาะความรู้สึกหรือความเข้าใจของพยานบุคคลที่นำเข้าสืบเท่านั้นตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ส่วนข้อที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ด้วยว่า คำดังกล่าวเป็นคำสามัญทั่วไป โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะหวงกันไว้ใช้แต่ผู้เดียวนั้น เห็นว่า แม้คำว่า “Universal” และคำว่า “Pictures” จะเป็นคำสามัญทั่วไป แต่เมื่อโจทก์นำมาใช้ประกอบกันเป็นชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะห้ามมิให้บุคคลใดที่มีเจตนาไม่สุจริตนำคำทั้งสองคำนี้ไปใช้เป็นชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการเช่นเดียวกับโจทก์ จนทำให้สาธารณชนไม่สามารถแยกแยะความเป็นนิติบุคคล เจ้าของสินค้าหรือบริการออกจากกัน และอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 โดยห้ามใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส” และอักษรโรมันคำว่า “Universal Pictures” กับชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะบทบัญญัติมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงให้สิทธิโจทก์ร้องขอต่อศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อนิติบุคคลคำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส” และอักษรโรมัน คำว่า “Universal Pictures” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และไม่อาจกระทำได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5) เป็นเหตุให้ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ยุติการใช้คำว่า “ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส” อักษรโรมัน คำว่า “Universal Pictures” เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจัดตั้งโดยใช้ชื่อนิติบุคคลดังกล่าวได้และไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน นั้น ยังหาใช่ข้อพิสูจน์ยืนยันว่าชื่อนิติบุคคลดังกล่าวจะไม่ซ้ำกับบุคคลอื่น และจะไม่ก่อความเสียหายให้แก่บุคคลอื่นแต่อย่างใดไม่ เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 มีคำที่เป็นชื่อทางการค้าเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการของโจทก์ โดยการใช้ชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ในการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์เป็นไปโดยไม่สุจริตทั้งเป็นเหตุทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดเข้าใจไปได้ว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับโจทก์ ย่อมจะทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในทำนองที่ว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ให้การในประเด็นดังกล่าวไว้แต่อย่างใด เมื่อจำเลยทั้งสองนำมากล่าวอ้างในชั้นนี้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่โจทก์แก้อุทธรณ์โดยขอให้แก้ไขคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กับขอให้จำเลยที่ 2 ถอนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เห็นว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าว และได้ให้เหตุผลไว้โดยชัดแจ้งแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยหรือเห็นว่าเป็นคำพิพากษาที่ไม่ถูกต้อง และต้องการขอให้ศาลฎีกาพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในประเด็นดังกล่าวแล้ว โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หาใช่เพียงตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์เช่นนี้ไม่ ทั้งกรณีนี้หาใช่เป็นเรื่องที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตามที่โจทก์กล่าวอ้างด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ยุติการใช้คำว่า ยูนิเวอร์แซล พิคเจอร์ส และอักษรโรมันคำว่า Universal Pictures เป็นส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share