คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 339/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้การอยู่อาศัยที่ ป. ได้ให้ไว้แก่ ฮ. และจำเลยที่ 1 จะเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสอง ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ให้ปฏิบัติตามได้ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1402 บัญญัติว่า “บุคคลใดรับสิทธิอาศัยในโรงเรือน บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า” และมาตรา 1408 บัญญัติว่า “เมื่อสิทธิอาศัยสิ้นลงผู้อาศัยต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้ให้อาศัย” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บ้านเลขที่ 30 (เดิม) ซึ่งเป็นโรงเรือนได้ถูกรื้อถอนไปแล้วโดยจำเลยทั้งสองเช่นนี้ สิทธิอาศัยที่ ฮ. และจำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับ ป. ย่อมสิ้นลงจึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตามบทกฎหมายข้างต้น การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ขึ้นแทนภายหลังจากที่ ป. ถึงแก่ความตาย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่แต่อย่างใดไม่ และการที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอม บ้านเลขที่ 30 (ใหม่) จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดิน่ของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) เช่นนี้พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ประสงค์จะให้บ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ซึ่งเป็นโรงเรือนคงอยู่ตามมาตรา 1311

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2973 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 30
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2973 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกไปจากบ้านเลขที่ 30 กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2973 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่นายไฮ้และจำเลยที่ 1 อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 30 เป็นการอยู่อาศัยโดยนายประมุข อนุญาต แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานก็เป็นบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับได้ โจทก์ทั้งสองเป็นเพียงผู้จัดการมรดกของนายประมุขเท่านั้น จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า แม้การอยู่อาศัยที่นายประมุขได้ให้ไว้แก่นายไฮ้และจำเลยที่ 1 จะเป็นบุคคลสิทธิใช้ยันโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกนายประมุขให้ปฏิบัติตามได้ก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1402 บัญญัติว่า “บุคคลใดได้รับสิทธิอาศัยโรงเรือน บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิอยู่ในโรงเรือนนั้นโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า” และมาตรา 1408 บัญญัติว่า “เมื่อสิทธิอาศัยสิ้นลงผู้อาศัยต้องส่งทรัพย์สินคืนแก่ผู้ให้อาศัย” เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า บ้านเลขที่ 30 (เดิม) ซึ่งเป็นโรงเรือนได้ถูกรื้อถอนไปแล้วโดยจำเลยทั้งสองเช่นนี้ สิทธิอาศัยที่นายไฮ้และจำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับนายประมุขย่อมสิ้นลงจึงไม่มีโรงเรือนอันจะมีสิทธิอาศัยตามบทกฎหมายข้างต้น การที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ขึ้นแทนภายหลังจากที่นายประมุขถึงแก่ความตายโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสองก็หาก่อให้เกิดสิทธิอาศัยขึ้นมาใหม่แต่อย่างใดไม่ และการที่จำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับความยินยอม บ้านเลขที่ 30 (ใหม่) จึงเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทตกเป็นของเจ้าของที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 144 ทั้งเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่สุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1311 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) เช่นนี้พอถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประมุขประสงค์จะให้บ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ซึ่งเป็นโรงเรือนคงอยู่ตามมาตรา 1311 ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 30 (ใหม่) ดังวินิจฉัยมาแล้วเช่นนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประมุขชอบที่จะจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1736 วรรคสอง จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวแต่อย่างใด สำหรับคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share