คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 314/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มีความหมายว่า ในคดีที่มีอัตราโทษขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษที่หนักกว่านั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาลว่ากระทำความผิดตามฟ้อง ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับนั้นได้ แต่ต้องฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพให้เป็นที่พอใจก่อนว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ส่วนปัญหาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับเช่นว่านี้ต้องมีน้ำหนักมั่นคงเพียงใดนั้น เห็นได้ว่า ในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องนำสืบให้ได้ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ เพียงแต่มีพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามคำรับก็เป็นการเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 188, 264, 265, 268, 334, 339, 340 ตรี, 371 ริบเศษหัวกระสุนปืน 2 ชิ้น แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม 1 แผ่น และเครื่องหมายตรวจสภาพรถและมาตรค่าโดยสารสีแดงปลอม 1 แผ่น ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 334, 339 วรรคท้าย, 371 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น (ที่ถูกกับความผิดฐานลักทรัพย์) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 188 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 จำคุก 2 ปี ฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอม มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปรับ 100 บาท ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 ฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น จำคุก 1 ปี ฐานใช้เอกสารราชการปลอมจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธ ปรับ 50 บาท ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยมีและใช้อาวุธปืน คงจำคุกตลอดชีวิตตามมาตรา 52 (2) เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้จำคุกตลอดชีวิต ตามมาตรา 91 (3) และปรับ 50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29 ริบเศษหัวกระสุนปืน 2 ชิ้น แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม 1 แผ่น เครื่องหมายตรวจสภาพรถและมาตรค่าโดยสารสีแดงปลอม 1 แผ่น ของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยจำเลยไม่ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยได้ลักแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ทพ 265 กรุงเทพมหานคร เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของรถยนต์คันดังกล่าวกับแผ่นเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถยนต์คันนั้นไป แล้วปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับแผ่นเครื่องหมายตรวจสภาพรถและมาตรค่าโดยสาร และนำแผ่นป้ายทะเบียนปลอมที่จำเลยทำขึ้นกับแผ่นเครื่องหมายตรวจสอบสภาพรถและมาตรค่าโดยสารอันเป็นเอกสารราชการปลอม ไปติดไว้ที่รถยนต์รับจ้างสาธารณะสีฟ้า – แดง หมายเลขตัวถัง เอ็มอาร์ 053 แซดอีซี 107028925 ที่ผู้ตายเช่าซื้อจากบริษัทแหลมทองเสริมกิจ จำกัด แล้วใช้รถยนต์คันดังกล่าวแล่นรับส่งผู้โดยสารอันเป็นการใช้เอกสารราชการปลอม พาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรตามที่โจทก์ฟ้อง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยชิงทรัพย์รถยนต์รับจ้างสาธารณะ หมายเลขทะเบียน ธ – 1825 กรุงเทพมหานคร ของบริษัทแหลมทองเสริมกิจ จำกัด ที่อยู่ในความตายตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายเช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากบริษัทแหลมทองเสริมกิจ จำกัด มาเป็นรถยนต์รับจ้างสาธารณะรับส่งผู้โดยสารในกรุงเทพมหานคร ในวันเกิดเหตุเวลา 2 นาฬิกาเศษ ผู้ตายนำรถไปจอดเข้าคิวเพื่อรอรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งตลาดหมอชิต 2 โดยเข้าคิวเป็นคันที่ 4 ครั้นเวลาประมาณ 3 นาฬิกา จำเลยว่าจ้างให้ผู้ตายขับรถไปส่งที่ใดไม่ปรากฏแล้วขึ้นรถยนต์ออกไป ต่อมาในวันเดียวกันเวลาประมาณ 6 นาฬิกา มีผู้พบศพผู้ตายอยู่ใต้ทางด่วนบางปะอิน – แจ้งวัฒนะ ในท้องที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี สภาพศพมีร่องรอยถูกยิงด้วยปืนที่แก้มซ้ายและท้ายทอยซ้าย กระสุนปืนตัดประสาทไขสันหลังต้นคอ ส่วนรถยนต์รับจ้างสาธารณะที่ผู้ตายขับในวันนั้นหายไป ในขณะนั้นไม่มีผู้ใดทราบเบาะแสเกี่ยวกับคนร้าย หลังจากเกิดเหตุ 5 วัน ร้อยตำรวจเอกสุชาติพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลปากคลองรังสิต ไปสอบถามเรื่องราวจากพนักงานขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะที่สถานีขนส่งตลาดหมอชิต 2 จึงทราบตำหนิรูปพรรณของจำเลยจากนายมานิตย์ เพื่อนของผู้ตาย ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2546 นายสุรพล ซึ่งเช่ารถยนต์รับจ้างสาธารณะของนายสุพจน์หรือหมูไปขับ พบจำเลยขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะคันที่ผู้ตายเช่าซื้อจากบริษัทแหลมทองเสริมกิจ จำกัด อยู่ที่ถนนสุโขทัย สภาพรถพ่นสีฟ้า – แดง และมีตัวอักษรข้างรถว่า สหกรณ์อิสระหมายเลขทะเบียน 265 กรุงเทพมหานคร นายสุรพลรู้สึกสะกิดใจเนื่องจากรู้จักกับจำเลยและทราบว่าหมายเลขทะเบียน 265 กรุงเทพมหานคร เป็นหมายเลขทะเบียนรถยนต์รับจ้างสาธารณะของนายสุพจน์จึงแจ้งให้นายสุพจน์ทราบ ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2546 สิบตำรวจโทกฤษดาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสามเสน พบรถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ที่ถนนร่วมจิต ปากซอยโกศล แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประตูรถทุกด้านใส่กุญแจไว้จึงนำไปตรวจสอบที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสนปรากฏว่าเป็นรถยนต์รับจ้างสาธารณะหมายเลขทะเบียน ธ – 1825 กรุงเทพมหานคร ที่ผู้ตายเช่าซื้อจากบริษัทแหลมทองเสริมกิจ จำกัด เมื่อตรวจค้นภายในรถพบบัตรประจำตัวของนายมานพพนักงานขนส่งเบียร์สดบริษัทเบียร์สิงห์ จำกัด ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพของนายปราโมทย์ บัตรประจำตัวผู้ขับรถของนายภราดร บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวผู้ผลิตรายการและข่าวกรมตำรวจ บัตรประจำตัวศูนย์ปฏิบัติการทางการเมืองพรรคความหวังใหม่ ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลตลอดชีพและใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะของจำเลยจึงแจ้งให้ร้อยตำรวจเอกสุชาติทราบ ร้อยตำรวจเอกสุชาตินำบัตรเหล่านั้นไปให้นายมานิตย์ดู นายมานิตย์ยืนยันว่าจำเลยคือชายคนที่ว่าจ้างให้ผู้ตายขับรถไปส่งเมื่อเวลา 3 นาฬิกา ของคืนเกิดเหตุ ร้อยตำรวจเอกสุชาตินำเอกสารดังกล่าวไปให้นายสุพจน์ดู นายสุพจน์ระบุว่าจำเลยเคยเช่ารถยนต์รับจ้างสาธารณะหมายเลขทะเบียน ทพ 265 กรุงเทพมหานคร ของนายสุพจน์ไปรับส่งผู้โดยสารแต่จำเลยได้บอกเลิกการเช่าและนำรถยนต์มาคืนก่อนเกิดเหตุเพียงวันเดียวต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2546 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ ร้อยตำรวจเอกสุชาติจัดให้นายสุรพลชี้ตัวจำเลยซึ่งยืนปะปนกับผู้อื่นหลายคน นายสุรพลยืนยันว่าจำเลยเป็นคนที่ขับรถยนต์ของกลางที่นายสุรพลพบเห็นภายหลังเกิดเหตุและจัดให้นายมานิตย์ชี้ตัวจำเลยเช่นกัน ซึ่งนายมานิตย์ก็ยืนยันว่าจำเลยเป็นชายที่นั่งรถไปกับผู้ตายในคืนเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนจึงดำเนินคดีแก่จำเลย ที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานชิงทรัพย์จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้องแต่ความผิดฐานชิงทรัพย์จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต โจทก์จึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำรับสารภาพให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะลงโทษจำเลยได้ แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยชิงทรัพย์จากผู้ตาย ศาลฎีกาชอบที่จะยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานชิงทรัพย์นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง…” บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่าในคดีอุกฉกรรจ์ที่มีอัตราโทษสูงซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษที่หนักกว่านั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพต่อศาลว่ากระทำความผิดตามฟ้องศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับนั้นได้ แต่ต้องฟังพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพให้เป็นที่พอใจก่อนว่าจำเลยกระทำความผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ส่วนปัญหาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับเช่นว่านี้ต้องมีน้ำหนักมั่นคงเพียงใดนั้น เห็นได้ว่าในกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องนำสืบให้ได้ความชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยดังเช่นคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธเพียงแต่มีพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจศาลว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามคำรับ ก็เป็นการเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานนั้น สำหรับคดีนี้โจทก์มีนายมานิตย์เป็นพยานเบิกความว่า ในคืนเกิดเหตุเวลา 2 นาฬิกาเศษ ขณะที่พยานขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะไปจอดเข้าคิวเพื่อรอรับผู้โดยสารที่สถานีขนส่งตลาดหมอชิต 2 เห็นผู้ตายจอดรถยนต์เข้าคิวเป็นคันที่ 4 ครั้นใกล้จะถึงเวลา 3 นาฬิกา จำเลยไปว่าจ้างให้ผู้ตายขับรถไปส่งที่ใดไม่ปรากฏแล้วขึ้นรถยนต์ออกไป ต่อมาเวลาประมาณ 9 นาฬิกา พยานจึงทราบว่าผู้ตายถูกฆ่าตายที่ใต้ทางด่วนบางประอิน แจ้งวัฒนะ แม้พยานปากนี้จะสนิทสนมกับผู้ตาย แต่ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะปรุงแต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จขึ้นปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ ยิ่งกว่านั้นยังได้ความว่าบริเวณที่ผู้ตายจอดรถมีแสงไฟฟ้าส่องสว่างสามารถมองเห็นกันได้ชัดเจน รูปคดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่านายมานิตย์จำจำเลยได้แม่นยำไม่ผิดตัว เพราะหลังจากเกิดเหตุเพียง 5 วัน เมื่อร้อยตำรวจเอกสุชาติไปสอบถามถึงรูปพรรณสัณฐานของชายที่นั่งรถไปกับผู้ตายนายมานิตย์ก็ระบุตำหนิรูปพรรณให้ทราบ ภายหลังเกิดเหตุเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้และจัดให้นายมานิตย์ดูตัวจำเลย นายมานิตย์ก็ยืนยันว่าจำเลยเป็นชายที่นั่งรถไปกับผู้ตายในคืนเกิดเหตุ ช่วงเวลานับแต่จำเลยขึ้นรถไปกับผู้ตายเป็นเวลาใกล้ชิดติดพันกับเวลาที่ผู้ตายถูกฆ่า คำเบิกความของนายมานิตย์เป็นพยานแวดล้อมกรณีใกล้ชิดกับเหตุ นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสุรพลมาเบิกความสนับสนุนว่าในเดือนกรกฎาคม 2546 ขณะที่พยานขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะรับส่งผู้โดยสารได้เห็นจำเลยขับรถยนต์รับจ้างสาธารณะสีฟ้าแดง มีตราประทับข้างตัวถังรถว่าสหกรณ์อิสระ แต่พยานนึกสะกิดใจที่หมายเลขทะเบียนรถเป็นหมายเลข 265 กรุงเทพมหานคร ซึ่งซ้ำกับหมายเลขทะเบียนรถยนต์รับจ้างสาธารณะของนายสุพจน์จึงได้บอกให้นายสุพจน์ทราบ ในข้อนี้โจทก์มีนายสุพจน์เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า ได้รับคำบอกเล่าจากนายสุรพลจริง หลังจากนั้นเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์คันดังกล่าวไปตรวจสอบ ก็ปรากฏว่าเป็นรถยนต์รับจ้างสาธารณะคันที่ผู้ตายเช่าซื้อจากบริษัทแหลมทองเสริมกิจ จำกัด ดังนี้ แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ แต่การที่จำเลยโดยสารรถไปกับผู้ตายในเวลาใกล้ชิดกับเวลาที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย ทั้งหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยยังนำรถยนต์คันที่ผู้ตายใช้สอยไปขับเป็นพฤติการณ์ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับเมื่อนำมารับฟังประกอบกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยชิงทรัพย์และใช้กำลังประทุษร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งที่ไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีนับว่าหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่สภาพความผิด”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายลงโทษจำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้วคงจำคุก 27 ปี และปรับ 50 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share