คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8335/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมไปรษณีย์โทรเลขโจทก์เป็นกรมในรัฐบาล รับเป็นผู้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมแก่เอกชนด้วย โดยให้เอกชนเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการของเอกชนผู้เช่า ซึ่งผู้เช่าต้องเสียค่าเช่าตามที่ประกาศที่โจทก์กำหนด ทั้งมีหน้าที่ต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุคมนาคม การที่โจทก์ให้เอกชนเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จึงเป็นกิจการอย่างอื่นที่สำคัญและที่ไม่ใช่ราชการซึ่งโจทก์จัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารความถี่วิทยุอันเป็นภารกิจของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกเอาค่าเช่า จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2533 และวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 จำเลยทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องวิทยุคมนาคมชนิด วี เอช เอฟ/เอฟเอ็ม จำนวน 3 เครื่อง และ 10 เครื่องตามลำดับ พร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์จำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์ มีกำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี นับแต่วันที่ 8 มีนาคม 2533 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2534 และนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2533 จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2534 ตามลำดับ โดยจำเลยยินยอมชำระค่าเช่าเครื่องละ 250 บาท ต่อเดือน ภายในวันที่ 10 ของทุกเดือน รวม 13 เครื่อง คิดเป็นค่าเช่าเดือนละ 3,250 บาท มีข้อตกลงว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้วจำเลยยังคงใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์อยู่อีก ให้ถือว่าจำเลยตกลงเช่าต่อไปจนกว่าจำเลยจะบอกเลิกสัญญาโดยต้องแจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ต่อมาในเดือน พฤษภาคม 2534 โจทก์ได้ปรับอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ของอัตราค่าเช่าเดิมรวม 13 เครื่อง คิดเป็นค่าเช่าเดือนละ 3,900 บาท เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าทั้ง 2 ฉบับแล้ว จำเลยยังคงใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์อยู่อีก ถือว่าจำเลยตกลงเช่าต่อไป ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2539 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเป็นรายปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไป ดังนั้น จำเลยต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุในอัตราปีละ 1,600 บาท ชำระภายในวันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปี หากจำเลยไม่ชำระจะต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ของค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุที่ต้องชำระต่อวันคือวันละ 16 บาท หลังจากนั้นจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 เป็นต้นมา และไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุของปี 2544 โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ในสภาพที่ใช้งานได้ดีจำนวน 13 เครื่อง หากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน 15,162 บาท ให้จำเลยชำระค่าเช่า ค่าตอบแทน ค่าตอบแทนเพิ่มและค่าเสียหายจำนวน 152,332.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินค่าเช่าที่ค้างชำระเงินจำนวน 70,200 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราวันละ 16 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุปี 2544 และให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 3,900 บาท นับถัดจากเดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนหรือใช้ราคาเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่จำเลยเช่าจากโจทก์จำนวน 13 เครื่อง ในสภาพใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งคืนได้ ให้จำเลยใช้ราคาเป็นเงิน 5,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าเช่า ค่าตอบแทน ค่าตอบแทนเพิ่ม และค่าเสียหายจำนวน 71,049.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินค่าเช่า 39,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 พฤษภาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มในอัตราวันละ 16 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุของปี 2544 และให้จำเลยชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 1,000 บาท นับจากเดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะคืนหรือใช้ราคาเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าไปแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 เดือน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2533 จำเลยทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์จำนวน 3 เครื่อง ตามสัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเอกสารหมาย จ.2 วันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์ ตามสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 จำเลยทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ให้แก่โจทก์จำนวน 10 เครื่อง ตามสัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเอกสารหมาย จ.3 วันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์ตามสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือน กันยายน 2543 และไม่ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุของปี 2544 พร้อมค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มเป็นต้นมาโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้คงมีว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับค่าเช่าเดือนกันยายน 2543 ถึงเดือนเมษายน 2544 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคม สำหรับข่ายเฉพาะกิจแก่ภาคเอกชนเพื่อเป็นการสนับสนุนให้บริการได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ เพื่อให้การใช้ความถี่วิทยุซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปโดยประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมิได้มีวัตถุประสงค์ในเชิงธุรกิจ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหารัมทรัพย์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นกรมในรัฐบาลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีภารกิจเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและการบริหารความถี่วิทยุ ดำเนินการด้านใบอนุญาตวิทยุคมนาคม ตรวจสอบและเฝ้าฟังวิทยุ และดำเนินการอื่นๆ ตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมก็ตาม แต่โจทก์รับเป็นผู้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมแก่เอกชนด้วย โดยให้เอกชนเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการของเอกชนผู้เช่า ซึ่งเอกชนผู้เช่าต้องเสียค่าเช่าตามประกาศที่โจทก์กำหนด ทั้งมีหน้าที่ต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุแก่โจทก์อีกด้วยตามประกาศของโจทก์ เรื่องการปรับอัตราค่าเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมเอกสารหมาย จ.6 และประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเอกสารหมาย จ.7 ดังนี้ การที่โจทก์ให้เอกชนเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จึงเป็นกิจการอย่างอื่นที่สำคัญและที่ไม่ใช่ราชการซึ่งโจทก์จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการบริหารความถี่วิทยุอันเป็นภารกิจของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการให้เช่าสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกเอาค่าเช่า จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (6) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2546 สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับค่าเช่าเดือนกันยายน 2543 ถึงเดือนเมษายน 2544 จึงขาดอายุความ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share