คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8888/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาการดำเนินกิจการต่างๆ ของโรงเรียนตั้งแต่วันดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไป แต่กรมสามัญศึกษาโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปจนถึงวันที่จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมีจำนวนเท่าใด ย่อมไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินทั้งหมดได้
กรมสามัญศึกษาโจทก์เป็นกรมในรัฐบาลมีอธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นผู้บริหารราชการ อธิบดีกรมสามัญศึกษาจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รวมทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีด้วย ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้แก่นิติบุคคลทั่วไปที่ต้องประทับตราของโจทก์ในการลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมาใช้แก่โจทก์
ในวันที่กรมสามัญศึกษาโจทก์ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแม้จะถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดแล้ว ก็ยังไม่อาจถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวด้วย เมื่อคณะกรรมการสอบสวนสอบสวนเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมสามัญศึกษาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยจึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ปรากฏว่ารองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 โดยจำเลยที่ 3 ไม่แต่งตั้งผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันเพื่อตรวจสอบการรับจ่ายเงินในแต่ละวัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจสอบพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้ภายหลังเหตุคดีนี้ จะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้
จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการับจ่ายเงินและเป็นประธานกรรมการเก็บรักษาตรวจนับเงินประจำวัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการประมาทเลินเล่อดังกล่าวของตน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โจทก์มอบอำนาจให้นายกรกิจ ฟ้องคดีแทน ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามรับราชการประจำอยู่ที่โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ซึ่งอยู่ในสังกัดของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการมีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบงานด้านธุรการ การเงิน และพัสดุของโรงเรียน จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ มีหน้าที่บังคับบัญชาปกครอง กำกับ ดูแล และบริหารกิจการงานทั้งปวงของโรงเรียน เมื่อระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2533 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าบำรุงการศึกษา ค่าสมัครสอบ และค่าสอบแก้ตัวจากนักเรียน ค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้น้ำและไฟฟ้าของโรงเรียน ค่าเช่าสถานที่จากผู้เช่า เงินบริจาคและเงินบำรุงจากสหกรณ์โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” รวมเป็นเงิน 2,325,166 บาท อันเป็นรายได้ของโรงเรียนแล้วเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ไม่ควบคุมดูแลตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติไปตามระเบียบแบบแผนข้อบังคับและกฎเกณฑ์ของทางราชการ โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 ไม่ทำการแต่งตั้งผู้ตรวจสอบรายการรับเงินและจ่ายเงินว่าตรงกับยอดเงินในบัญชีธนาคารและบัญชีเงินสดหรือไม่ เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาและนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 นำเงินของโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว ถือว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,063,846.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,325,166 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบแบบแผน ข้อบังคับและกฎเกณฑ์ของทางราชการโดยตลอด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งกรมสามัญศึกษาที่ 2820/2532 เรื่อง มอบอำนาจการบังคับบัญชาข้าราชการ ในฐานะผู้อำนวยการกอง มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติงานฝ่ายการเงิน และแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน ตามคำสั่งโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ที่ 23/2535 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามข้อบังคับของกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาและนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 ทั้งยังแต่งตั้งคณะกรรมการเก็บรักษาเงินบำรุงการศึกษา โดยให้จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการและจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการ ตามคำสั่งโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ที่ 28/2534 อีกด้วย คำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าเงินที่ถูกยักยอกไปเป็นของผู้ใดบ้างและจำนวนเท่าใด เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 ตามรายงานการสอบสวน เรื่อง การสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชดใช้ทางแพ่ง โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริงขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,063,846.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,325,166 บาท นับแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ต่อโจทก์เป็นเงิน 1,454,618.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 569,785.90 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 และของต้นเงิน 884,833 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคิดถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 ต้องไม่เกิน 227,914.35 บาท และ 287,570.72 บาท ตามลำดับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 รับราชการในสังกัดของโจทก์ที่โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่การเงินได้ยักยอกเงินค่าบำรุงการศึกษา ค่าสมัครสอบ ค่าสอบแก้ตัว ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าสถานที่ ค่าบำรุงจากสหกรณ์โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” และเงินบริจาค ของโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหลายครั้งเป็นเงินรวม 2,325,166 บาท โดยจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุรับราชการในสังกัดของโจทก์ที่โรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ มีหน้าที่ควบคุมตรวจสอบงานด้านธุรการ การเงินและพัสดุของโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” รวมทั้งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 รับราชการในสังกัดของโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2530 และพ้นจากตำแหน่งดังกล่าวในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อแรกเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดตามฟ้องข้อ 2 ค. และข้อ 2 ง. หรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 2 ค. ว่า ในปีการศึกษา พ.ศ.2535 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าบำรุงการศึกษารวมเป็นเงิน 833,470 บาท และฟ้องข้อ 2 ง. โจทก์บรรยายว่า ระหว่างปีการศึกษา พ.ศ.2533 ถึงปีการศึกษา พ.ศ.2535 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 ต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินค่าสอบแก้ตัวจำนวนเงิน 11,549.50 บาท ค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้ารวมเป็นเงิน 25,507.60 บาท จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ชลบุรี “สุขบท” เพียงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุตามฟ้องถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 ซึ่งในทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความแน่ชัดว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามฟ้องข้อ 2 ค. และข้อ 2 ง. คิดถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2535 เป็นจำนวนเงินเท่าใด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่กำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในเงินดังกล่าว โจทก์ฎีกาว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินจากโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” หลายครั้งเป็นเงิน 2,325,166 บาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของหน่วยงาน มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาการดำเนินกิจการต่างๆ ของโรงเรียน แต่จำเลยที่ 3 ปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบแบบแผนของทางราชการโดยเคร่งครัดจนเป็นช่องทางให้จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินดังกล่าว ถือเป็นการประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย เห็นว่า จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาการดำเนินกิจการต่างๆ ของโรงเรียนตั้งแต่วันดังกล่าว จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไป หาใช่ต้องรับผิดต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2536 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปจนถึงวันที่จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” มีจำนวนเท่าใดย่อมไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินทั้งหมดได้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนนี้ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินแต่ละครั้งจำนวนเท่าใด และไม่ได้ระบุวันเวลาที่กระทำความผิดแต่ละครั้งให้แน่นอน เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุวันเวลาที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดยักยอกเงินของโจทก์ไปโดยมีรายละเอียดจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึงหมายเลข 8 จำเลยที่ 3 สามารถเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ได้ดี ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า หนังสือมอบอำนายให้ฟ้องคดีของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย แม้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ประทับตราของโจทก์ในการทำนิติกรรมแทนโจทก์ ก็มิได้หมายความว่าการไม่ประทับตราเป็นการลงลายมือชื่อแทนนิติบุคคลได้โดยชอบ เมื่อไม่มีกฎหมายบังคับไว้โดยเฉพาะก็ต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายทั่วไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลจะต้องลงลายมือชื่อและประทับตราของนิติบุคคลด้วย จึงจะเป็นการลงลายมือชื่อแทนนิติบุคคลและมีอำนาจกระทำแทนนิติบุคคลได้ เห็นว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลมีอธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นผู้บริหารราชการ อธิบดีกรมสามัญศึกษาจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รวมทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีด้วยตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้แก่นิติบุคคลทั่วไปมาใช้แก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 3 อ้าง ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามกฎหมายของจำเลยที่ 3 มีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ได้ทราบถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ แม้โจทก์ไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิด ก็ต้องถือว่าโจทก์รู้แล้วว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ร้องทุกข์ซึ่งคิดถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว เห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง กรณีจึงต้องนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดประการหนึ่งและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกประการหนึ่งประกอบกันเป็นวันใดและพ้นปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าว คดีจึงขาดอายุความตามบทบัญญัติของมาตราดังกล่าว แต่ในวันที่โจทก์ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแม้จะถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดแล้วก็ยังไม่อาจถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวด้วย เมื่อคณะกรรมการสอบสวนสอบสวนเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมสามัญศึกษาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยจึงถือว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ปรากฏว่ารองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 13 กรกฎาคม 2538 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 3 มีว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 กล่าวคือ จำเลยที่ 3 ไม่แต่งตั้งผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันเพื่อตรวจสอบการรับจ่ายเงินในแต่ละวันเป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจสอบพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 การไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวจึงเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้ภายหลังเหตุคดีนี้ จะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้แก่คดีนี้ตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกาหาได้ไม่ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ได้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนชลบุรี “สุขบท” เป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการรับจ่ายเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และแต่งตั้งกรรมการเก็บรักษาตรวจนับเงินประจำวันรักษาลูกกุญแจนิรภัย ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการ และนายจารึกเป็นกรรมการ ซึ่งมีแบบแผนการปฏิบัติการรายงานเงินคงเหลือประจำวันตามแบบ 407 เสนอให้ผู้อำนวยการตรวจทุกวันที่มีการรับจ่ายพร้อมกับสมุดเงินสดและบัญชีแยกประเภทเพื่อตรวจสอบยอดเงินว่าตรงกันหรือไม่ นั้น เห็นว่า การแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการรับจ่ายเงิน และเป็นประธานกรรมการเก็บรักษาตรวจนับเงินประจำวันด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันตามระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการประมาทเลินเล่อดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดเพียงใด นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 มิได้กระทำผิดโดยจงใจดังเช่นจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงควรร่วมรับผิดตามระดับความร้ายแรงของความผิดที่จำเลยที่ 3 กระทำ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 แล้วเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดเพียงกึ่งหนึ่งของความเสียหายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ต่อโจทก์เป็นเงิน 727,309.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 284,892.95 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 และของต้นเงิน 442,416.50 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share