คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5588/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องนอกจากโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันจงใจบุกรุก แผ้วถางและขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินของโจทก์แล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องอีกว่า หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบที่ดินที่จำเลยทั้งสองบุกรุกว่าเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ซึ่งการกระทำด้วยความประมาทจะเป็นความผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้การกระทำโดยประมาทเช่นนั้นเป็นความผิด แต่การกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ หรือ ป.ที่ดินหรือกฎหมายอื่นใดที่มีโทษทางอาญา ฟ้องโจทก์เช่นนี้จึงเป็นคำฟ้องที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์เท่านั้น ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดอาญาจึงไม่อาจใช้อายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาบังคับได้ แต่ต้องใช้อายุความละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปแผ้วถาง ก่นสร้าง แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ในป่าชายเลนโดยไม่มีสิทธิเรื่อยมาเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่โจทก์ตรวจพบเรื่อยมา จึงมีลักษณะเป็นการกระทำต่อเนื่องดังที่โจทก์ได้นำสืบให้เห็นประจักษ์แล้ว ฉะนั้นตราบใดที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออกไป การละเมิดก็ยังคงมีอยู่ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตลอดเวลาจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการทำละเมิด เมื่อก่อนฟ้อง 1 ปี จำเลยทั้งสองยังไม่หยุดการทำละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ได้ ค่าเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสองย้อนหลังไป 1 ปี ตั้งแต่วันฟ้อง จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับค่าเสียหายในส่วนที่เกิน 1 ปี แล้วเท่านั้นที่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,003,734.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2539 ถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 234,889.20 บาท และดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากบริเวณที่บุกรุก
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากบริเวณที่จำเลยทั้งสองบุกรุก จำนวนเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปแสดงจุดเกิดเหตุ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยบุกรุกเข้าไปในที่ดินอันเป็นป่าชายเลนของโจทก์รวมเนื้อที่ 8 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา และแผ้วถางและขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายรวม 1,003,734.22 บาท โจทก์รู้ถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวจำเลยทั้งสองว่าเป็นผู้จะพึงต้องใช้ค่าเสียหายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในส่วนค่าเสียหายว่าเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายทั้งหมดซึ่งคิดค่าเสียหายตั้งแต่วันที่จำเลยทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี ขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย ส่วนที่ย้อนหลังจากวันฟ้องไป ไม่เกิน 1 ปี ไม่ขาดอายุความ เฉพาะส่วนที่เกิน 1 ปี เท่านั้น ขาดอายุความ จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 1 ปี เป็นเงิน 250,000 บาท ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างฎีกา เห็นควรวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ก่อน
โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และอายุความทางอาญามีกำหนดเวลา 10 ปี ซึ่งยาวกว่าอายุความทางแพ่งฐานละเมิด จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี มาบังคับ ที่ศาลล่างทั้งสองนำอายุความ 1 ปี มาบังคับแก่สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องนอกจากโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันจงใจบุกรุก แผ้วถาง และขุดบ่อเลี้ยงปลาในที่ดินของโจทก์แล้ว โจทก์ยังบรรยายฟ้องอีกว่า หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ตรวจสอบที่ดินที่จำเลยทั้งสองบุกรุกว่าเป็นที่ดินของจำเลยทั้งสองหรือไม่ซึ่งการกระทำด้วยความประมาทจะเป็นความผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้การกระทำโดยประมาทเช่นนั้นเป็นความผิด แต่การกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องในคดีนี้ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 หรือประมวลกฎหมายที่ดิน หรือกฎหมายอื่นใดที่มีโทษทางอาญา ฟ้องโจทก์เช่นนี้จึงเป็นคำฟ้องที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์เท่านั้น ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดอาญา จึงไม่อาจใช้อายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาบังคับได้ แต่ต้องใช้อายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ที่ศาลล่างทั้งสองนำอายุความทางแพ่งฐานละเมิดซึ่งมีกำหนด 1 ปี มาบังคับใช้แก่สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายส่วนที่ไม่เกิน 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นอันขาดอายุความด้วยหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2539 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์โดยการจงใจบุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถางป่าชายเลน 2 แห่งตามฟ้องหรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อโดยไม่ตรวจสอบที่ดินที่บุกรุกว่าเป็นของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และรายงานต่อผู้รักษาการแทนอธิบดีของโจทก์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 แต่โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 จึงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ย่อมขาดอายุความโดยสิ้นเชิง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันฟ้อง โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายหนึ่งปีย้อนหลังไปตั้งแต่วันฟ้องเป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่ได้ทำสืบให้ประจักษ์ว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันฟ้องแต่อย่างใดนั้น ปรากฏว่า โจทก์มีนายนรินทร์เจ้าพนักงานสำนักงานป่าไม้จังหวัดภูเก็ต นายวิฑูรย์นักวิชาการป่าไม้ 7 ร้อยตำรวจเอกไพรัตน์เจ้าพนักงานตำรวจประจำกองตำรวจป่าไม้ นายฉัตรชัยเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 เป็นพยานโจทก์เบิกความรับฟังได้ว่า พยานร่วมกันตรวจสอบพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งของจำเลยที่ 1 และพื้นที่ข้างเคียงแล้ว พบว่ามีการบุกรุกกินเนื้อที่ของป่าชายเลน 2 จุด จุดแรกขุดเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งบางส่วน ทำทางเดิน บ้านพักชั่วคราว จุดที่ 2 บุกรุกแผ้วถาง กั้นคันดิน และถูกใช้เป็นที่เลี้ยงปลาโดยมีกระชังเลี้ยงปลา อีกทั้งจำเลยทั้งสองยังได้สร้างประตูรั้วและล็อกกุญแจทั้งติดป้ายหวงห้ามไม่ให้บุคคลอื่นใดเข้าไปในป่าชายเลนที่จำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปครอบครอง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวเห็นได้ว่า การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปแผ้วถาง ก่นสร้าง แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินป่าชายเลนโดยไม่มีสิทธิเรื่อยมาเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่โจทก์ตรวจพบเรื่อยมา จึงมีลักษณะเป็นการกระทำต่อเนื่องดังที่โจทก์ได้นำสืบให้เห็นประจักษ์แล้ว ฉะนั้นตราบใดที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมออกไป การละเมิดก็ยังคงมีอยู่ซึ่งเป็นเหตุให้โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตลอดเวลาจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการทำละเมิด เมื่อก่อนฟ้อง 1 ปี จำเลยทั้งสองยังไม่หยุดการทำละเมิด โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2542 ได้ ค่าเสียหายจากการทำละเมิดของจำเลยทั้งสองย้อนหลังไป 1 ปี ตั้งแต่วันฟ้อง จึงไม่ขาดอายุความสำหรับค่าเสียหายในส่วนที่เกิน 1 ปี แล้วเท่านั้นที่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีเป็นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้นเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share