คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5403/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การนำคำที่มีความหมายมารวมกับตัวอักษรบางตัว เช่น การนำอักษรโรมันคำว่า Jobs ซึ่งแปลว่า “งาน” มารวมกับอักษรโรมัน DB ยังไม่มีลักษณะถึงขนาดที่จะเป็นคำประดิษฐ์อันควรได้รับความคุ้มครองด้วยการจดทะเบียน ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (3) และเมื่อโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าว เครื่องหมายบริการคำว่า “JobsDB” ของโจทก์จึงเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนโดยตรงขัดต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย ส่วนในเรื่องชื่อเต็มของนิติบุคคลนั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะไม่ให้มีการผูกขาดการใช้คำสั้นๆ ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนิติบุคคลหรือชื่อย่อของนิติบุคคลในการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ อันจะทำให้บุคคลอื่นที่สุจริตเสียโอกาสในการใช้คำเดียวกันนั้น และเมื่อพิจารณาถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคลจะเห็นได้ว่า คำว่า “บริษัท” และ “จำกัด” ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลแต่อย่างใด คำว่า “JobsDB” จึงเป็นชื่อเต็มของโจกท์นั่นเอง ไม่ใช่ชื่อนิติบุคคลที่มีคำแสดงฐานะของนิติบุคคลประกอบด้วย ดังนั้น เครื่องหมายบริการคำว่า “JobsDB” ของโจทก์ไม่มีลักษณะพิเศษใดๆ จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 (1) เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายบริการ JobsDB ตามคำขอเลขที่ 490921 มีลักษณะบ่อเฉพาะ ชอบที่จะได้รับการจดทะเบียน ให้เพิกถอนคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 74/2547 และให้จำเลยดำเนินการเพื่อรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่าโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการคำว่า JobsDB ใช้กับบริการจำพวก 35 ตามคำขอเลขที่ 490921 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนโจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยให้เหตุผลทำนองเดียวกัน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า เครื่องหมายบริการคำว่า JobsDB มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายบริการคำว่า JobsDB ของโจทก์เป็นเพียงการนำอักษรโรมันคำว่า Jobs ซึ่งแปลว่า “งาน” มารวมกับอักษรโรมัน DB แม้คำว่า JobsDB จะไม่ปรากฏความหมายในพจนานุกรม แต่ก็เป็นเพียงการนำอักษรมาเรียงติดกันเพื่อให้แตกต่างไปจากคำเดิมเล็กน้อย ขณะที่สำเนียงเรียกขานยังคงอ่านออกเสียง “จอบส์” เหมือนเดิมอย่างชัดเจน โดยอ่านคำนี้ได้ว่า “จอบส์ดีบี” ไม่ต่างกับการเขียนคำว่า Jobs แยกออกจากอักษร DB โจทก์เองก็ไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องเสียงเรียกขานดังกล่าว ดังนั้น ลำพังการนำคำที่มีความหมายมารวมกับตัวอักษรบางตัวในลักษณะเช่นนี้ยังไม่มีลักษณะถึงขนาดที่จะเป็นคำประดิษฐ์อันควรที่จะได้รับความคุ้มครองด้วยการจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (3) โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักกับการที่จะให้สิทธิในการใช้คำว่า Jobs แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว และเมื่อโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวกับการบริการประเภทที่ 35 เครื่องหมายบริการคำว่า JobsDB ของโจทก์จึงเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนโดยตรง ขัดต่อพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมาย ที่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่า เครื่องหมายบริการคำว่า JobsDB มีลักษณะพิเศษ ไม่มีความหมายก็ดี ไม่เป็นไปตามหลักไวยากรณ์ก็ดี ไม่อาจหักล้างเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นได้
โจทก์อุทธรณ์ในประเด็นนี้ต่อไปในทำนองว่า เครื่องหมายบริการคำว่า JobsDB นี้นำมาจากบางส่วนของชื่อนิติบุคคลของโจทก์ มีลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่จำต้องมีรูปแบบใหม่ทั้งไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรง จึงถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะและไม่ต้องห้ามที่จะจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (1) เห็นว่า ในเรื่องชื่อเต็มของนิติบุคคลนั้น กฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะไม่ให้มีการผูกขาดการใช้คำสั้นๆ ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคล หรือชื่อย่อของนิติบุคคลในการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ อันจะทำให้บุคคลอื่นที่สุจริตเสียโอกาสในการใช้คำเดียวกันนั้นสำหรับชื่อของนิติบุคคลนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับนิติบุคคล เช่น พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 5 และมาตรา 6 ระบุเป็นความผิดสำหรับการที่ไม่ใช้คำว่า “บริษัท” นำหน้าชื่อนิติบุคคล และต่อท้ายด้วยคำว่า “จำกัด” กับการใช้ชื่อนิติบุคคลประกอบกับคำดังกล่าวโดยที่ไม่ได้เป็นบริษัทจำกัด แสดงให้เห็นว่า คำว่า “บริษัท” และ “จำกัด” ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชื่อนิติบุคคลแต่อย่างใด คดีนี้โจทก์มีชื่อว่า Jobs DB Inc. ออกเสียงเป็นภาษาไทยว่า “จอบส์ดีบีอิงค์” โดยโจทก์ยอมรับว่า Inc. มีคำแปลว่า “บริษัทจำกัด” และเป็นคำแสดงฐานะนิติบุคคล คำว่า “Jobs DB” จึงเป็นชื่อเต็มของโจทก์นั่นเอง ไม่ใช่ชื่อนิติบุคคลที่มีคำแสดงฐานะของนิติบุคคลประกอบด้วยถึงจะเป็นชื่อเต็มตามที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อเครื่องหมายบริการคำว่า JobsDB ของโจทก์ไม่มีลักษณะพิเศษใดๆ คงเป็นเพียงอักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็กผสมกัน โดยน่าเชื่อว่าเป็นการใช้ลักษณะของตัวอักษร (Font) ลักษณะเดียวกันทั้งตัวพิมพ์ใหญ่และตัวพิมพ์เล็ก จึงเป็นคำที่ประกอบด้วยตัวอักษรโรมันธรรมดาไม่มีการแสดงโดยลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากอักษรโรมันทั่วๆ ไปอันถึงขนาดที่ควรจะได้รับความคุ้มครองด้วยการจดทะเบียน ประกอบกับเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนโดยตรง เครื่องหมายบริการของโจทก์จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 (1) เช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปว่า เครื่องหมายบริการคำว่า JobsDB ของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการเผยแพร่ หรือโฆษณาจนแพร่หลายแล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้นำสืบถึงการเผยแพร่ หรือโฆษณาเครื่องหมายบริการของโจทก์ทางสื่อต่างๆ จนเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย แต่เอกสารเหล่านี้บางส่วนเป็นเรื่องของการดำเนินกิจกรรมของโจทก์ และลงข่าวซ้ำซ้อนต่อเนื่องกันในสื่อหนังสือพิมพ์ สำหรับสถิติเกี่ยวกับข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตของโจทก์ในช่วงปี 2548 นั้นยังต้องรับฟังด้วยความระมัดระวังเพราะสถิติข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ได้แปลความหมายหรือสื่อถึงจำนวนบุคคลที่เกี่ยวข้องดังที่โจทก์กล่าวอ้างก็เป็นได้ ทั้งยังไม่อาจรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่าสาธารณชนในประเทศไทยได้รับรู้ถึงการเผยแพร่ หรือโฆษณาเครื่องหมายบริการของโจทก์ด้วยการสื่อสารวิธีนี้แล้วประการสำคัญคือหลักฐานต่างๆ ที่โจทก์นำสืบมานี้จะเป็นเพียงการเผยแพร่ หรือโฆษณาในช่วงปี 2542 และปี 2543 เกือบทั้งสิ้น โดยการโฆษณาทางโทรทัศน์นั้นก็จะเป็นการโฆษณาในบางช่วงเวลา จึงยังไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องในการเผยแพร่ หรือโฆษณาเครื่องหมายบริการของโจทก์ แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า พยานจำเลยจะเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านประกอบเอกสารหลักเกณฑ์การตรวจสอบและคัดค้านเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2539 ว่า “ระยะเวลานานพอสมควร” นั้นคือไม่น้อยกว่า 2 ปี และตามหลักฐานที่โจทก์ยื่นมาปรากฏว่า โจทก์ให้บริการจัดหางานทางอินเทอร์เน็ตนับจนถึงวันยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเกินเวลา 2 ปีก็ตาม แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ตอบทนายจำเลยถามติงด้วยว่า การใช้เป็นที่แพร่หลายจะต้องเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนด้วยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์หรือสื่อโทรทัศน์ก็จะต้องมีความต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร ดังนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาข้างต้นยังมีน้ำหนักน้อยและไม่พอรับฟังว่าเครื่องหมายบริการของโจทก์คำว่า JobsDB มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการเผยแพร่หรือโฆษณามานานจนแพร่หลายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share