คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8175/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 นั้นอาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กัน แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดง จำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 64,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 47,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 สิงหาคม 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อที่เป็นปัญหาข้อเท็จจริงและมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นสั่งรับขึ้นมาเพียงว่า จำเลยจะนำสืบว่าได้ใช้เงินที่กู้ยืมแก่โจทก์แล้วได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ว่า ขณะจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือแต่ต่อมาจำเลยได้เบิกความเป็นพยานไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2784/2539 ของศาลชั้นต้นว่าจำเลยกู้ยืมเงิน 47,000 บาทเศษไปจากโจทก์ และโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยคำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีดังกล่าวมาเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง…” ศาลฎีกาเห็นว่า หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่บัญญัติไว้ในบทกฎหมายดังกล่าว อาจเกิดมีขึ้นในขณะกู้ยืมเงินกันหรือภายหลังจากนั้นก็ได้ และมิได้จำกัดว่าจะต้องเป็นหลักฐานที่ได้มอบไว้แก่กันดังที่จำเลยฎีกา แม้คำให้การพยานที่จำเลยเบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2784/2539 ของศาลชั้นต้นจะเกิดมีขึ้นภายหลังการกู้ยืมเงินและไม่มีการส่งมอบให้ไว้แก่กันก็ตาม ก็ถือได้ว่าการกู้ยืมเงินระหว่างจำเลยและโจทก์เป็นกรณีที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่มีหลักฐานการใช้เงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้ยืมมาแสดงจำเลยจึงนำสืบการใช้เงินไม่ได้ เพราะเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์

Share