แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานพาผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย และฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย แม้จำเลยกระทำในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นความผิดต่อทั้งผู้เยาว์และมารดาของผู้เยาว์ ถือได้ว่ามีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดต่างฐานต่างหากจากกันจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ความผิดสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบท ลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่ไม่อาจกำหนดโทษจำเลยเพิ่มเติมได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 21 มกราคม 2549 เวลากลางวัน จำเลยพราก พา นางสาว ช. อายุ 17 ปีเศษ แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากนาง ช. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดา โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา โดยนางสาว ช. เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ, 319
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก, 319 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในสถานเบานั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยให้จำคุก 2 ปี ก่อนลดโทษให้เป็นการลงโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่อาจกำหนดโทษให้เบาลงกว่านี้ได้อีก ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า การที่จำเลยพรากผู้เยาว์ซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา แม้ผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายแก่ผู้เยาว์ และทำความเดือนร้อนให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งหลังเกิดเหตุจำเลยเพียงแต่อ้างในฎีกาว่าจำเลยยินยอมจดทะเบียนสมรสกับผู้เยาว์ แต่ผู้เสียหายไม่ยินยอมและยังเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมากจนจำเลยไม่มีความสามารถที่จะชดใช้ได้ โดยไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนเพื่อรับฟังให้เป็นยุติว่า จำเลยได้บรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของตนตามสมควรแก่ผู้เสียหาย พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ซึ่งจะต้องลงโทษจำเลยให้หลาบจำ ส่วนที่จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และยังอยู่ในระหว่างศึกษาเล่าเรียน หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานพาผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย และฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย แม้จำเลยกระทำในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นความผิดต่อทั้งผู้เยาว์และมารดาของผู้เยาว์ ถือได้ว่ามีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดต่างฐานต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ความผิดสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 นั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225 แต่ไม่อาจกำหนดโทษจำเลยเพิ่มเติมได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิด 2 กรรมต่างกัน ให้ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคแรกด้วย สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์