คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6498/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินทั้ง 6 แปลงให้โจทก์และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท หากไม่สามารถโอนที่ดินได้ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 35,000,000 บาท ซึ่งศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีหรือไม่เพียงใด ซึ่งมิใช่เป็นการเรียกเบี้ยปรับคืนหรือขอให้ลดเบี้ยปรับแต่อย่างใด เมื่อทาวน์เฮาส์จำนวน 18 ห้อง ที่ ศ. ปลูกสร้างในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อตกลงว่าหาก ศ. ผิดสัญญาให้ริบเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้จะขายโดยไม่ต้องใช้ราคาเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่ผู้จะซื้อให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่ผู้จะขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 382 เมื่อโจทก์ฟ้องและขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดิน 6 แปลง ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายตามสัญญา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยลดเบี้ยปรับและให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เป็นเงินจำนวน 900,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายศมา นายศมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยทั้งสองจำนวน 6 แปลง ในราคาตารางวาละ 15,000 บาท นายศมาได้ชำระเงินให้จำเลยทั้งสองหลายครั้งรวมเป็นเงิน 419,324 บาท ต่อมานายศมาถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายมายังทายาทของนายศมา โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายศมา จึงแจ้งให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเรียกร้องราคาเพิ่มเป็นตารางวาละ 23,000 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการผิดสัญญา ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์และรับเงินจำนวน 4,620,676 บาท โดยให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากไม่สามารถบังคับจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้ ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 35,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 472,452 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 419,324 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เป็นจำนวนเงิน 900,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 22 สิงหาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นของโจทก์ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อกฎหมายว่า การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยลดเบี้ยปรับและให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เป็นเงินจำนวน 900,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดีหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนมาแล้วว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายศมา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2536 นายศมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้ง 6 แปลง กับจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2536 นายศมาทำสัญญาเพิ่มเติมโดยตกลงชำระราคาที่ดินและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เป็นสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนธันวาคม 2536 เมื่อถึงกำหนดนายศมาเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่ชำระค่าที่ดินภายในกำหนดตามสัญญาและถือว่าสัญญาเลิกกันโดยมิต้องบอกกล่าวตามสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวนั้นยอมให้จำเลยที่ 1 ผู้จะขายริบเงินมัดจำทั้งหมด บรรดาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไว้แล้วยินยอมให้ตกเป็นของผู้จะขายโดยสละสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าทรัพย์สินใดๆ ทั้งสิ้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินทั้ง 6 แปลง ให้โจทก์ และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท หากไม่สามารถโอนที่ดินได้ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 35,000,000 บาท ซึ่งศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีหรือไม่เพียงใด ซึ่งมิใช่เป็นการเรียกเบี้ยปรับคืนหรือขอให้ลดเบี้ยปรับแต่อย่างใด เมื่อทาวน์เฮาส์จำนวน 18 ห้อง ที่นายศมาปลูกสร้างในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขาย มีข้อตกลงว่าหากนายศมาผิดสัญญาให้ริบเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้จะขายโดยไม่ต้องใช้ราคา เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่ผู้จะซื้อให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่ผู้จะขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 เมื่อโจทก์ฟ้องและขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดิน 6 แปลง ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายตามสัญญา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยลดเบี้ยปรับและให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เป็นเงินจำนวน 900,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวหาชอบไม่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท

Share