คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืนเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไปชักชวนผู้เสียหายแต่ละคน คนละหลายครั้ง ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยรับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คือ 14 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขเรื่องโทษได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืนเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4, 5, 9, 12 และให้จำเลยคืนต้นเงินที่จำเลยฉ้อโกงและกู้ยืมไปและยังไม่ได้คืนรวม 1,102,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 14 ราย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนเงินเสร็จสิ้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 (ที่ถูก มาตรา 343 วรรคแรก) พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 วรรคแรก), 12 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืนต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากผู้เสียหายและยังไม่ได้คืนรวม 1,102,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 14 คน ตามส่วน (ที่ถูก ให้จำเลยคืนต้นเงินแก่นางจั่น จำนวน 5,000 บาท นางทองทรัพย์ นางหอม คนละ 10,000 บาท นายเชย จำนวน 17,000 บาท นางเจียว นายวินิจ นางยุพิน คนละ 30,000 บาท นายเสริง นายคำ คนละ 40,000 บาท นายบุญโชค จำนวน 90,000 บาท นางสอาด จำนวน 100,000 บาท นายสังข์ จำนวน 150,000 บาท นายสง่า จำนวน 250,000 บาท และนางสอิ้ง จำนวน 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,102,000 บาท) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มิถุนายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัย “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้ง 14 คน เบิกความเป็นพยานยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ติดต่อชักชวนให้ผู้เสียหายทั้ง 14 คน นำเงินไปลงทุนโดยจะได้ค่าตอบแทนร้อยละ 70 ต่อ 25 วัน แต่เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ชำระค่าตอบแทนที่ได้ตกลงกันไว้ เห็นว่า แม้การที่ผู้เสียหายทั้ง 14 คน ได้มอบเงินให้แก่จำเลยไปโดยที่ไม่มีเอกสารแสดงว่าจำเลยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากผู้เสียหายทั้ง 14 คน แต่เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของผู้เสียหายทั้ง 14 คน ต่างรู้จักกับจำเลยมาก่อนไม่มีสาเหตุโกรธเคือง จึงไม่มีข้อให้ระแวงว่าจะแต่งเรื่องขึ้นมากลั่นแกล้งจำเลย ที่จำเลยฎีกาว่าเป็นเรื่องการเล่นแชร์ซึ่งมีบุคคลอื่นเป็นผู้จัดขึ้น และผู้เสียหายตลอดจนชาวบ้านอื่นเข้าไปร่วมเล่นแชร์ดังกล่าวนั้น เป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ของจำเลยโดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ผู้เสียหายทั้ง 14 คน มีวัยวุฒิสูงกว่าจำเลย ส่วนวุฒิการศึกษาและอาชีพเช่นเดียวกัน เป็นไปไม่ได้ที่ผู้เสียหายจะหลงเชื่อว่าจำเลยจะมีความสามารถที่จะนำเงินไปลงทุนจำนวนสูงขนาดนั้นทั้งเป็นพฤติกรรมที่ผิดวิสัยที่วิญญูชนทั่วไปพึงประพฤติในการนำเงินจำนวนมากไปลงทุนโดยไม่มีหลักฐานการรับเงินนั้น หาได้เป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญไม่ เพราะเมื่อปรากฏความจริงจากพยานหลักฐานว่าผู้เสียหายทั้ง 14 คน ได้ถูกจำเลยหลอกลวงจนได้เงินไปจากผู้เสียหายเช่นเดียวกับกรณีที่จำเลยอ้างว่าตนเองเป็นผู้ร่วมเล่นในวงแชร์ที่จำเลยกล่าวอ้างก็หาได้ส่งผลลบล้างการกระทำอันเป็นความผิดของจำเลยไม่ ฎีกาข้ออื่นๆ ของจำเลยเป็นเพียงข้อแก้ตัวที่ขาดเหตุผลและพยานหลักฐานสนับสนุน จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงเชื่อถือได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ พยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยเพียงกรรมเดียว และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน หรือกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปว่า ในการกู้ยืมเงินตนหรือบุคคลใดจะจ่ายหรืออาจจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ตามพฤติการณ์แห่งการกู้ยืมเงิน ในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ โดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นจะนำเงินจากผู้ให้กู้ยืมเงินรายนั้นหรือรายอื่นมาจ่ายหมุนเวียนให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน หรือโดยที่ตนรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ตนหรือบุคคลนั้นไม่สามารถประกอบกิจการใดๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนพอเพียงที่จะนำมาจ่ายในอัตรานั้นได้ และในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้กู้ยืมเงินไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน” การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนนั้น เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยกู้ยืม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เมื่อข้อเท็จปรากฏว่าจำเลยไปชักชวนผู้เสียหายแต่ละคนคนละหลายครั้ง ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยรับไว้ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย คือ 14 กรรม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ศาลฎีกาไม่อาจแก้ไขเรื่องโทษได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 วรรคแรก พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 4 วรรคแรก, 12 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 มาตรา 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมรวม 14 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share