คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6137/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในปัญหาที่ว่าโจทก์ก่อสร้างบ้านพักที่พิพาทผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญาจ้างหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์ก่อสร้างงานงวดที่สามผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญาจ้าง โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้ ทั้งเมื่อจำเลยอุทธรณ์ โจทก์ก็ยื่นคำแก้อุทธรณ์ยอมรับว่ามีการก่อสร้างงวดที่สามผิดไปจากแบบแปลนจริง แต่เป็นการผิดไปเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องวินิจฉัย การที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อนี้เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ขึ้นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. ตาม 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาข้อนี้มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ในการก่อสร้างบ้านพักที่พิพาทโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาจ้างไว้มีข้อความว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่ค้างแก่โจทก์ได้ ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลเป็นการที่โจทก์ยอมสละค่าแห่งการงานที่โจทก์เสียไปในการก่อสร้างบ้านพักงวดที่สามให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมเป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ โจทก์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ได้
การพิจารณาว่าเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ ต้องอาศัยข้อความในสัญญาจ้างเป็นสำคัญ เมื่อสัญญาจ้างมีข้อความระบุว่า หากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากรูปแบบตามสัญญาจ้าง โจทก์ยอมให้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ให้แก่โจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำสัญญาดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในงานก่อสร้างงวดที่สามจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว ไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างบ้านสองชั้น 1 หลัง รวมค่าวัสดุและค่าแรงงานเป็นเงิน 1,130,000 บาท กำหนดเวลาก่อสร้าง 150 วัน โดยตกลงแบ่งชำระค่าจ้างงวดแรกถึงงวดที่สามงวดละ 226,000 บาท งวดที่สี่จำนวน 169,500 บาท และงวดที่ห้าจำนวน 282,500 บาท โจทก์ทำงานงวดแรกและงวดที่สองแล้วเสร็จและจำเลยจ่ายเงินค่าจ้างให้โจทก์แล้ว ส่วนงานงวดที่สามโจทก์ทำโครงหลังคา มุงกระเบี้องหลังคา เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐผนัง ติดตั้งวงกบประตูหน้าต่าง รวมค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานเป็นเงิน 143,850 บาท แต่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์และบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างผิดแบบแปลนตามสัญญา โจทก์สอบถามผู้เขียนแบบแล้วได้ความว่าการก่อสร้างไม่ผิดแบบ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างก่อสร้าง จำเลยต้องรับผิดชำระค่าจ้างงวดที่สามที่โจทก์สร้างเสร็จแล้วเป็นเงิน 226,000 บาท ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาทำให้โจทก์ขาดรายได้จากผลกำไรที่ควรได้รับเป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 326,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้ผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยงานงวดแรกและงวดที่สองโจทก์ก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบแปลน จำเลยก็ผ่อนผันให้โจทก์ตลอดมา แต่งานก่อสร้างงวดที่สามซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญสำหรับตัวบ้านโจทก์กลับก่อสร้างผิดแบบแปลนอีก จำเลยแจ้งให้โจทก์ทำให้ถูกต้อง แต่โจทก์เพิกเฉยจำเลยเกรงว่าหากให้โจทก์ทำงานต่อไปจะเกิดความเสียหายจึงไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน แล้วนำช่างโยธาของเทศบาลมาตรวจสอบพบว่าโจทก์ก่อสร้างผิดแบบแปลนจริง จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาจ้างไปยังโจทก์ โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการทำงานงวดที่สามไม่ถึง 143,850 บาท เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 166,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 ตุลาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างบ้านพักอาศัยสองชั้น 1 หลัง โดยกำหนดค่าจ้างและค่าวัสดุก่อสร้างรวม 1,130,000 บาท กำหนดชำระค่าจ้างเป็นรายงวดรวม 5 งวด งวดแรกถึงงวดที่สาม งวดละ 226,000 บาท งวดที่สี่ชำระ 169,000 บาท และงวดที่ห้าชำระ 282,500 บาท โจทก์ได้ก่อสร้างงานงวดแรกละงวดที่สองแล้วเสร็จและได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยแล้ว ในระหว่างที่โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่สามซึ่งเป็นงานโครงหลังคา มุงกระเบื้องหลังคา เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ก่ออิฐผนังอาคาร ติดตั้งวงกบประตูหน้าต่างและฉาบปูนผนังอาคารอยู่นั้น จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างและไม่จ่ายค่าจ้างอันได้แก่ค่าแห่งการงานที่โจทก์ได้ทำไปในงานงวดที่สามให้แก่โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญาจ้าง ซึ่งโจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า โจทก์เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยชำระค่าแห่งการงานอันโจทก์ได้ทำในงานงวดที่สามเป็นเงิน 166,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่ไม่เห็นด้วยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างนั้น เห็นว่า ในปัญหาที่ว่าโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญาจ้างหรือไม่ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์ก่อสร้างงานงวดที่สามผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญาจ้าง โจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในข้อนี้ ทั้งเมื่อจำเลยอุทธรณ์ โจทก์ก็ยื่นคำแก้อุทธรณ์ยอมรับว่ามีการก่อสร้างงวดที่สามผิดไปจากแบบแปลนจริง แต่เป็นการผิดไปเพียงเล็กน้อย ดังนั้น ปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องวินิจฉัย การที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อนี้เป็นการยกเอาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ขึ้นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าว จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาข้อนี้มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงิน 166,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกเอาข้อความตามสัญญาจ้าง แผ่นที่ 2 ที่เขียนด้วยปากกาสีน้ำเงินว่าถ้าผู้รับจ้างไม่ทำตามแบบ ผู้ว่าจ้างมีสิทธิสั่งหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างที่ค้างขึ้นวินิจฉัยเป็นการพิพากษานอกประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาโจทก์ทั้งสองข้อไปในคราวเดียวกัน ข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของโจทก์ตอนตอบคำถามค้านว่า ในการก่อสร้างบ้านพักหลังนี้โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาจ้างไว้มีข้อความว่า หากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่ค้างแก่โจทก์ได้ ข้อสัญญาดังกล่าวมีผลเป็นการที่โจทก์ยอมสละค่าแห่งการงานที่โจทก์เสียไปในการก่อสร้างบ้านพักงวดที่สามให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมเป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยคืนเบี้ยปรับบางส่วนแก่โจทก์ โจทก์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าปัญหาข้อนี้ไม่ได้อยู่ในประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นการพิพากษานอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ ต้องอาศัยข้อความในสัญญาจ้างเป็นสำคัญ เมื่อสัญญาจ้างมีข้อความระบุว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากรูปบตามสัญญาจ้าง โจทก์ยอมให้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู้ให้แก่โจทก์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำข้อสัญญาดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในงานก่อสร้างงวดที่สามจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว ไม่เป็นการพิพากษานอกประเด็นตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ และสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ แต่ไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นนั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share