แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. ฟ้องเรียกเงินฝากจำนวน 255,859.02 บาท ที่ฝากไว้กับธนาคารจำเลยคืน โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ จ. ผู้ตาย ซึ่งหากศาลพิพากษาให้ตามขอก็ย่อมทำให้จำนวนทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งให้แก่ทายาทเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นไม่เกิน 300,000 บาท ก็ย่อมอยู่ในอำนาจที่ศาลแขวงจะพิจารณาพิพากษาได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของพลโทจรูญหรือจิรโชติ ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยก่อนถึงแก่ความตายพลโทจรูญหรือจิรโชติได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท โดยระบุว่า บัญชีธนาคารออมสิน สาขาประชาชื่น ซึ่งใส่ชื่อบุตรของพันตรีสุนทร ให้เด็กชายสมนึกทั้งหมด เมื่อประมาณปลายปี 2549 โจทก์ทั้งสองได้ไปติดต่อที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาประชาชื่น เพื่อขอเบิกเงินจากบัญชีเงินฝาก ชื่อผู้ฝากนายจิรโชติ เพื่อเด็กชายวรรณธร เพื่อนำมาแบ่งให้แก่ทายาทตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่ได้รับคำแนะนำจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ว่า การเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ก่อน โจทก์ทั้งสองจึงได้ติดต่อไปยังจำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ทั้งสองเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 2 เพิกเฉย ทำให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกไม่สามารถดำเนินการจัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 256,910.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 255,859.02 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองจะได้รับชำระเงินครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า การที่พลโทจรูญหรือจิรโชติเปิดบัญชีเงินฝากโดยระบุว่า เพื่อเด็กชายวรรณธร นั้น แสดงให้เห็นว่า พลโทจรูญหรือจิรโชติมีเจตนาที่จะยกเงินที่ฝากไว้ในบัญชีดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เงินในบัญชีเงินฝากจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ทันทีที่จำเลยที่ 1 รับฝากเข้าบัญชี เมื่อเงินในบัญชีเงินฝากเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิเบิกถอนเงินออกจากบัญชีได้ ส่วนพลโทจรูญหรือจิรโชติไม่มีสิทธิที่จะทำพินัยกรรมยกเงินที่ฝากไว้ในบัญชีดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าตามฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เป็นการชอบหรือไม่ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของพลโทจรูญหรือจิรโชติฟ้องเรียกเงินฝากในบัญชีซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของพลโทจรูญหรือจิรโชติคืนจากจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาแบ่งให้แก่ทายาทตามพินัยกรรม จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของพลโทจรูญหรือจิรโชติฟ้องเรียกเงินฝากจำนวน 255,859.02 บาท ที่ฝากไว้กับจำเลยที่ 1 คืน โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของพลโทจรูญหรือจิรโชติผู้ตาย ซึ่งหากศาลพิพากษาให้ตามขอก็ย่อมทำให้จำนวนทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งให้แก่ทายาทเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นไม่เกิน 300,000 บาท ก็ย่อมอยู่ในอำนาจที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณาพิพากษาได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้รวมสั่งเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่