คำวินิจฉัยที่ 27/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๕๒

วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสระแก้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสระแก้วส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็น มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ นายถนอม พวงพุฒ โจทก์ ยื่นฟ้อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๑ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ ๒ นายวินิจ ภู่เนาวรัตน์ ที่ ๓ นายยงยุทธ โชติมงคล ที่ ๔ นายชัยยุทธิ์ แสงหิรัญ ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสระแก้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๖๙/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอ (สระแก้ว) เมืองสระแก้ว จังหวัด (ปราจีนบุรี) สระแก้ว จำนวนเนื้อที่ ๙ ไร่เศษ ที่ดินแปลงนี้เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๑๒๑๒ ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี เนื้อที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา นางเนียม บ้านแก้ว มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองโดยรับการให้มาจากบิดา ตั้งแต่ก่อนปี ๒๔๙๕ บิดานางเนียมครอบครองทำประโยชน์ด้วยการปลูกมันสำปะหลังเต็มพื้นที่ และเมื่อนางเนียมรับให้ที่ดินมาก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเต็มพื้นที่ ประมาณเดือนเมษายน ๒๕๑๗ นางเนียมยื่นคำร้องขอออก น.ส. ๓ ก. เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนสิทธิและพิสูจน์การทำประโยชน์เสร็จแล้วจึงออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๒๑๒ ให้ไว้เป็นหลักฐาน และเปลี่ยนเป็นโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๓๕ ตามคำร้องของนางเนียม ต่อมาวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๔๘ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสระแก้วนำที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ ของนางเนียมออกขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจังหวัดนครนายก โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้และได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ ๓ ในการระวังชี้แนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ไม่ยินยอมชี้ระวังแนวเขตโดยอ้างว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ ของโจทก์เกือบทั้งแปลงเป็นที่ดิน สวนป่าท่าแยก อยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินทำการไกล่เกลี่ย แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เจ้าพนักงานที่ดินจึงแจ้งให้ไปฟ้องต่อศาล โจทก์เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอ (สระแก้ว) เมืองสระแก้ว จังหวัด (ปราจีนบุรี) สระแก้ว เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งห้าเข้าขัดขวางการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การว่า นางเนียมเจ้าของที่ดินเดิมไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๑๒๑๒ และการเปลี่ยนจาก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวเป็นโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบางส่วนของที่ดินด้านทิศตะวันออกเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ ๑ งาน ๒๖ ตารางวา ทับซ้อนกับพื้นที่แปลงปลูกป่า ๒๔๙๕ ของสวนป่าท่าแยก (ปจ.๑๑) ที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และไม่เป็นที่ดินตามความหมายในประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำไปออกเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ เดิมกรมป่าไม้กำหนดนโยบายปลูกป่ามาตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ จนถึงปี ๒๕๐๕ รวมเนื้อที่ ๑๐๓๕ ไร่ มีการฝังหลักเขตแปลงปลูกป่าโดยใช้หลักเขตป่าสงวนแห่งชาติ บำรุงป่าและลาดตระเวนป้องกันมิให้ผู้ใดบุกรุก นางเนียมจึงไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดจึงไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การกระทำของจำเลยทั้งห้าไม่ถือว่าเป็นการคัดค้านการรังวัด แนวเขตที่ดินตามคำขอของโจทก์ แต่เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายในการรักษาพื้นที่ป่าไม้ของรัฐ และโจทก์มิได้เป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งห้าเนื่องจากโจทก์มิได้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสระแก้วพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น สำหรับคดีนี้คู่กรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของเอกชนหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ ซึ่งนอกจากจะต้องพิจารณาสิทธิในที่ดินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว จำต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ ๑ มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแล ป้องกันการบุกรุก ทำลายป่าและการกระทำความผิด ตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อ ๒ (๓) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๔๗ การที่จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ ๓ ไม่ยินยอมชี้ระวังแนวเขตที่ดินพร้อมทั้งคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินของโจทก์โดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์ทับซ้อนกับพื้นที่แปลงปลูกป่า ๒๔๙๕ ของสวนป่าท่าแยก ตามพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นป่าตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ ๒ กรณีจึงเป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลและป้องกันการบุกรุกและทำลายป่าตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อจำเลยทั้งห้ามิได้อยู่ในฐานะเจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่การโต้แย้งกันในเรื่องสิทธิในที่ดิน แต่เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ชี้ระวังแนวเขตที่พิพาทโดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์บางส่วนอยู่ในเขตป่าไม้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งห้าขัดขวางการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโจทก์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายและการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดจำเลยที่ ๒ ขณะเกิดเหตุ คดีนี้ จำเลยที่ ๓ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑ (ปราจีนบุรี) และเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ โดยโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอ (สระแก้ว) เมืองสระแก้ว จังหวัด (ปราจีนบุรี) สระแก้ว เนื้อที่ ๙ ไร่เศษ ซื้อมาจากการขายทอดตลาด โจทก์ยื่นคำขอรังวัดสอบเขตที่ดิน แต่จำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ ๓ ในการระวังชี้แนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ไม่ยินยอมชี้ระวังแนวเขตอ้างว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ ของโจทก์เกือบทั้งแปลงเป็นที่ดินสวนป่าท่าแยกอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๒๔๙ เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และห้ามจำเลยทั้งห้าเข้าขัดขวางการครอบครอง ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งห้าให้การว่า เจ้าของที่ดินเดิมไม่เคยเข้าทำประโยชน์ ในที่ดินพิพาท การออกเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะบางส่วนของที่ดินด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ ๑ งาน ๒๖ ตารางวา ทับซ้อนพื้นที่แปลงปลูกป่าของสวนป่าท่าแยก และที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ และไม่เป็นที่ดินตามความในประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๑ ที่จะออกเอกสารสิทธิได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะสืบเนื่องมาจากการไม่ยอมชี้ระวังแนวเขตที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นการปฏิบัติ ตามกฎหมายของฝ่ายปกครองในการรักษาพื้นที่ป่าไม้ของรัฐก็ตาม แต่การที่โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และขอให้ศาลมีคำสั่งรับรองกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และห้ามจำเลยทั้งห้าเข้าขัดขวางการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ทั้งฝ่ายจำเลยทั้งห้าก็ให้การว่า ที่ดินพิพาทเกือบทั้งแปลงทับซ้อนพื้นที่แปลงปลูกป่าของสวนป่าท่าแยก และที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและคุ้มครองสิทธิของโจทก์ตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายถนอม พวงพุฒ โจทก์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ ๑ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ ๒ นายวินิจ ภู่เนาวรัตน์ ที่ ๓ นายยงยุทธ โชติมงคล ที่ ๔ นายชัยยุทธิ์ แสงหิรัญ ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share