คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2615/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 47 บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า จำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ คดีนี้แม้ศาลจะยกฟ้องคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้ฉ้อโกงโจทก์ร่วม เนื่องจากขาดเจตนาทุจริต แต่ศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมตามกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนว่าโจทก์ร่วมได้ชำระค่าเช่านอกจากค่าเช่าล่วงหน้าเท่าใด อาคารและอุปกรณ์เสียหายเพียงใด เงินค่าน้ำและค่าไฟฟ้ามีการค้างชำระหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และโจทก์ร่วมอยู่ในอาคารพาณิชย์ที่เช่านานเท่าใด ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดในส่วนคดีแพ่งว่ามีเพียงใด หากจะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ก็จะทำให้คดีอาญาเนิ่นช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ร่วมไปฟ้องคดีแพ่งใหม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 41

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 924,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางบุษยา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง คงจำคุกรวม 2 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 220,000 บาท แก่ผู้เสียหาย (โจทก์ร่วม) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ และโจทก์ร่วมอุทธรณ์เฉพาะคดีแพ่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเห็นสมควรเป็นพับ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ว่า นายภิญญูเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคารพาณิชย์ 5 ชั้น เลขที่ 325/118 และเลขที่ 325/119 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี บริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2540 โดยมีนายสมชัยซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยและจำเลยกับพวกรวม 7 คน เป็นผู้เริ่มก่อการ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2541 บริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด โดยนายสมชัยได้ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหาดังกล่าวจากนายภิญญูมีกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2541 โดยจำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันการเช่า (ระบุว่านายสมชัยเป็นผู้เช่า) หลังจากนั้นในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมได้ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/119 ทั้งหลังและอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/118 เฉพาะชั้นที่ 2 ถึงชั้นที่ 5 มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ต่อมาได้ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/118 ชั้นล่างเพิ่มเติม ในการทำสัญญาเช่าดังกล่าว โจทก์ร่วมชำระค่าเช่าล่วงหน้า 6 เดือน เดือนละ 50,000 บาท ค่าประกันอาคารอุปกรณ์ 40,000 บาท และเงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟฟ้า 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 360,000 บาท สำหรับอาคารพาณิชย์เลขที่ 325/119 ชำระค่าเซ้ง 150,000 บาท ค่าเช่าล่วงหน้า 3 เดือน เดือนละ 12,000 บาท และเงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 196,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ร่วมชำระค่าเช่าอาคารพาณิชย์สองคูหาเดือนละ 50,000 บาท และเดือนละ 12,000 บาท นับแต่เดือนมกราคม 2543 ถึงเดือนมีนาคม 2543 รวมเป็นเงิน 186,000 บาท และชำระค่าเช่าเดือนเมษายน 2543 เป็นเงิน 32,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ร่วมมิได้ชำระค่าเช่าเลย ต่อมาวันที่ 19 มิถุนายน 2543 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยังมีพิรุธน่าสงสัยว่า สัญญาเช่าตามข้อ 5 เป็นสาระสำคัญที่คู่สัญญาต้องปฏิบัติหรือไม่ ส่วนพยานหลักฐานจำเลยสามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า สัญญาเช่าตามข้อ 5 ที่ว่าต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือหากจะให้เช่าช่วงนั้นไม่ใช่สาระสำคัญที่คู่สัญญาจำต้องปฏิบัติ กล่าวคือ ฝ่ายบริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด ผู้เช่าเข้าใจโดยสุจริตว่า สามารถนำอาคารพาณิชย์ที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากนายภิญญูผู้ให้เช่า ประกอบกับการเช่าทรัพย์สินผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่า ฉะนั้นที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทจงเชาหลีอยู่เป้า จำกัด และเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาเช่า อาคารพาณิชย์นำไปให้โจทก์ร่วมเช่า จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาทุจริตที่จะฉ้อโกงโจทก์ร่วม ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงโจทก์ร่วมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในส่วนคดีแพ่งว่า จำเลยต้องคืนเงินจำนวน 924,000 บาท แก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ คดีนี้แม้ศาลจะยกฟ้องคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้ฉ้อโกงโจทก์ร่วม เนื่องจากขาดเจตนาทุจริต แต่ศาลต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมตามกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า จำเลยได้รับเงินไปจากโจทก์ร่วมคือ เงินค่าเช่าบางส่วน เงินค่าประกันอาคารอุปกรณ์ เงินค่าเซ้ง และเงินมัดจำค่าน้ำค่าไฟ แต่ทางนำสืบของโจทก์ร่วมและจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงไม่ชัดเจนว่าโจทก์ร่วมได้ชำระค่าเช่านอกจากค่าเช่าล่วงหน้าเท่าใด อาคารและอุปกรณ์เสียหายเพียงใด เงินค่าน้ำและค่าไฟฟ้ามีการค้างชำระหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด และโจทก์ร่วมอยู่ในอาคารพาณิชย์ที่เช่านานเท่าใด ศาลไม่อาจที่จะวินิจฉัยจำนวนเงินที่จะต้องรับผิดในส่วนคดีแพ่งว่ามีเพียงใด หากจะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 42 วรรคหนึ่ง ก็จะทำให้คดีอาญาเนิ่นช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ร่วมไปฟ้องคดีแพ่งใหม่ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 41…
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ร่วมที่จะฟ้องจำเลยในส่วนคดีแพ่งใหม่ กับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ร่วมทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่คืนระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยให้เป็นพับ

Share