คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10406/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แบบฟอร์มคำขอกู้ยืมเงินและหนังสือกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ที่โจทก์นำมาใช้กับพนักงานลูกจ้างของโจทก์ ซึ่งคำขอกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 เสนอคำขอกู้เงินจำนวน 153,500 บาท ส่วนหนังสือกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือกู้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินไม่เกิน 153,500 บาท เมื่อโจทก์อนุมัติให้ใช้หนังสือกู้นี้ได้ จำเลยที่ 1 จะเบิกรับเงินกู้ตามที่โจทก์อนุมัติ และทำหลักฐานการรับเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ทุกครั้ง ด้านหลังระบุว่า ถ้าโจทก์กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าที่ขอกู้ จำเลยที่ 1 เป็นอันตกลงด้วยทั้งสิ้น ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย คงมีเพียงลายมือชื่อประธานคณะทำงานจากกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเป็นผู้อนุมัติพร้อมเลขานุการในช่องบันทึกการอนุมัติเงินกู้หน้าแรกของหนังสือกู้เงิน อันเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามระเบียบ ฯ ข้อ 9 จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงินและหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 113,684 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี และค่าปรับในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 109,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 8 ต่อปี นับแต่วันที่ 29กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาว่า หนังสือกู้ยืมเงิน และหนังสือค้ำประกัน เป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 หรือไม่ เห็นว่าสหกรณ์การเกษตรเวียงป่าเป้า จำกัด โจทก์ มีระเบียบกำหนดให้พนักงานสหกรณ์มีสิทธิขอกู้ยืมเงินจากเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรเวียงป่าเป้า จำกัด ว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานสหกรณ์ พ.ศ. 2545 ซึ่งข้อ 10 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดวิธีปฏิบัติในการยืมเงินโดยผู้ประสงค์ยืมเงินต้องยื่นหนังสือยืมเงินตามแบบที่กำหนดผ่านผู้จัดการถึงคณะทำงาน เพื่อคณะทำงานจะได้พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินตามจำนวนที่เห็นสมควร โดยข้อ 9 กำหนดให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อการอนุมัติเงินยืมตามเงื่อนไขที่คณะทำงานได้พิจารณาอนุมัติ คดีนี้จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงให้โจทก์อ้างส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานโจทก์เป็นเอกสารรวม 12 ฉบับ โดยได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอกู้เงินจากเงินกองทุนสงเคราะห์พนักงานเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นแบบฟอร์มคำขอกู้ยืมเงินและหนังสือกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ที่โจทก์นำมาใช้กับพนักงานลูกจ้างของโจทก์ด้วย ซึ่งคำขอกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่า จำเลยที่ 1 ขอเสนอคำขอกู้เงินจำนวน 153,500 บาท ส่วนหนังสือกู้เงินมีสาระสำคัญเพียงว่าจำเลยที่ 1 ขอทำหนังสือกู้ไว้ให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐาน จำเลยที่ 1 ขอกู้เงินไม่เกิน 153,500 บาท เมื่อโจทก์อนุมัติให้ใช้หนังสือกู้นี้ได้ จำเลยที่ 1 จะเบิกรับเงินกู้ตามที่โจทก์อนุมัติ และทำหลักฐานการรับเงินกู้ให้ไว้แก่สหกรณ์ทุกครั้ง ส่วนด้านหลังระบุว่า ถ้าโจทก์กำหนดวงเงินกู้ให้น้อยกว่าที่ขอกู้… จำเลยที่ 1 เป็นอันตกลงด้วยทั้งสิ้น ลงชื่อจำเลยที่ 1 ผู้กู้ โดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ผู้ให้กู้อยู่ด้วย คงมีเพียงลายมือชื่อประธานคณะทำงานจากกรรมการดำเนินการซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมเป็นผู้อนุมัติพร้อมเลขานุการในช่องบันทึกการอนุมัติเงินกู้หน้าแรกของหนังสือกู้เงิน อันเป็นขั้นตอนปฏิบัติงานตามระเบียบฯ ข้อ 9 หนังสือกู้เงิน จึงเป็นเพียงหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ส่วนสัญญาค้ำประกัน ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสองเท่านั้น หนังสือกู้เงิน และหนังสือค้ำประกัน จึงมิใช่ตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แม้โจทก์จะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share