แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การสอบจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจึงเป็นการนั่งพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (9) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งจะต้องอยู่ในบังคับของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมว่าด้วยองค์คณะผู้พิพากษา แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวมิใช่การชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวได้สอบจำเลยเรื่องทนายความและลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาจึงชอบแล้ว ส่วนการสืบพยานประเด็นโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว แม้มีผู้พิพากษาอีกคนมาร่วมลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้นั่งพิจารณาก็เป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หามีผลให้การนั่งพิจารณาที่ถูกต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ส่วนการสืบพยานในศาลชั้นต้นทุกครั้งก็ปรากฏตามบันทึกคำเบิกความและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าในแต่ละครั้งมีลายมือชื่อผู้พิพากษาสองคนลงลายมือชื่อไว้จึงต้องฟังตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าในวันเวลาดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนของศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาคดีอันเป็นการนั่งพิจารณาครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 หาได้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 236 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ส่วนการอ่านคำพิพากษาเป็นการดำเนินการหลังคดีเสร็จการพิจารณา ทั้งผู้พิพากษาได้ลงชื่อในคำพิพากษาครบองค์คณะตามกฎหมายแล้ว การอ่านคำพิพากษาย่อมกระทำได้โดยผู้พิพากษาคนเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 220 (ที่ถูก มาตรา 220 วรรคแรก) จำคุก 1 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาครบองค์คณะตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 26 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 236 ที่ใช้บังคับในขณะนั้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “… ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้” แม้ในวันดังกล่าวเป็นเพียงวันที่ศาลสอบถามจำเลยเรื่องทนายความเท่านั้น ซึ่งศาลจะสอบคำให้การจำเลยและสืบพยานในนัดต่อไปก็ตาม การสอบจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มการพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายก็เป็นการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจึงเป็นการนั่งพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (9) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ซึ่งจะต้องอยู่ในบังคับของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมว่าด้วยองค์คณะผู้พิพากษา แต่เมื่อการดำเนินการเป็นไปเพื่อออกคำสั่งใดๆ ซึ่งมิใช่การชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีจึงเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาของศาลชั้นต้นคนเดียวได้สอบจำเลยเรื่องทนายความและได้ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่ 2 เมษายน 2546 จึงชอบแล้ว และฎีกาของจำเลยที่ว่าการสืบพยานประเด็นโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาคนหนึ่งมิได้ร่วมนั่งพิจารณา แต่ได้ลงลายมือชื่อในคำให้การพยานและรายงานกระบวนพิจารณา และการสืบพยานในศาลชั้นต้นทุกครั้ง และในวันอ่านคำพิพากษามีผู้พิพากษาคนหนึ่งไม่ได้ร่วมพิจารณาด้วยมาลงลายมือชื่อเป็นการขัดต่อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า การสืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว แม้หากมีผู้พิพากษาศาลอาญาอีกคนหนึ่งมาร่วมลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้นั่งพิจารณาก็เป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หามีผลให้การนั่งพิจารณาที่ถูกต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ การสืบพยานในศาลชั้นต้นทุกครั้งก็ปรากฏตามบันทึกคำเบิกความและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าในแต่ละครั้งมีลายมือชื่อผู้พิพากษาสองคนลงลายมือชื่อไว้จึงต้องฟังตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า ในวันเวลาดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนของศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาคดี อันเป็นการนั่งพิจารณาครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แล้ว หาได้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 236 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนการอ่านคำพิพากษาเป็นการดำเนินการหลังคดีเสร็จการพิจารณา ทั้งผู้พิพากษาได้ลงชื่อในคำพิพากษาครบองค์คณะตามกฎหมายแล้ว การอ่านคำพิพากษาย่อมกระทำได้โดยผู้พิพากษาคนเดียว การดำเนินกระบวนพิจารณาและการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน