แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลังผู้เสียหายทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบุตรเล็ก ๆ ของผู้เสียหายที่ 2 อีกหลายคนและทำการค้าขาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าไปที่บริเวณหน้าบ้านและร้านค้าที่เกิดเหตุ และใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม้ และสิ่งของอื่นขว้างปาประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้าน รวมทั้งทำลายสิ่งของต่าง ๆ จนเสียหาย ย่อมเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ และยังเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยปกติสุข อันเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 358, 365 (1) (2) (3) ประกอบด้วยมาตรา 362
การกระทำของจำเลยกับพวกที่บุกรุกเข้าไปขว้างปาบ้านของผู้เสียหายทั้งสองจนได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานบุกรุกซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 90, 358, 362, 364, 365 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 362, 364, 358, 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 365 (1) (2) (3) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 2 ปี ริบของกลาง ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานร่วมกันบุกรุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา นายแวอิสเฮาะนายประกันจำเลยทั้งสามแถลงต่อสาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ตามใบมรณบัตรและหนังสือรับรองของสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลปะนาเระ โจทก์ไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า …ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามปากต่างเบิกความยืนยันสอดคล้องต้องกันว่า เห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมขว้างปาบ้านเกิดเหตุทั้งสองหลัง และจำเลยที่ 1 ยังตะโกนบอกให้กลุ่มคนขว้างปาบ้านดังกล่าวอีกด้วย โดยเฉพาะการรู้เห็นของพยานโจทก์ทั้งสามมิได้เห็นเหตุการณ์ขณะเดียวกันทุกคนแต่เห็นเหตุการณ์คนละตอนต่างเวลาและสถานที่กัน เหตุการณ์ตอนใดที่พยานคนใดไม่รู้เห็นก็จะไม่เบิกความถึง คำเบิกความจึงน่าเชื่อถือ ทั้งได้ความจากพยานโจทก์คือนายมะรอเซะและนางซอลีฮะว่า บริเวณบ้านเลขที่ 37/2 ที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าริมถนนหน้าบ้านเกิดเหตุ 1 ดวง และที่อยู่เยื้องกับบ้านอีก 1 ดวง พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้สามารถมองเห็นจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในระยะใกล้เพียงประมาณ 10 เมตร และ 3 ถึง 4 เมตร ตามลำดับ ทั้งมีโอกาสเห็นเป็นระยะเวลานานถึง 10 และ 15 นาที ประกอบกับพยานโจทก์ทั้งสามต่างรู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาก่อน จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสามสามารถเห็นและจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้อย่างแน่นอนไม่ผิดตัว นอกจากนี้โจทก์ยังมีผู้เสียหายที่ 1 และนางแอเสาะมาเบิกความสนับสนุนสอดรับกับคำพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวข้างต้นอีกด้วย เมื่อฟังประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุในคืนเดียวกันนั้น นายมะรูดิงน้องชายของจำเลยที่ 1 ถูกยิงเสียชีวิต จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 2 เป็นคนยิงสืบเนื่องมาจากเรื่องการเมืองท้องถิ่น จึงย่อมเป็นมูลเหตุให้จำเลยที่ 1 นำชาวบ้านและกลุ่มวัยรุ่นมาขว้างปาทำลายบ้านโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 2 อาจหลบหนีเข้ามาอยู่ในบ้านเกิดเหตุ พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันจึงรับฟังได้มั่นคงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับพวกขว้างปาสิ่งของและทำลายบ้านของผู้เสียหายทั้งสองอันเป็นความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัย ข้อนำสืบอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตามฟ้องโจทก์ด้วยหรือไม่ เห็นว่า บ้านที่เกิดเหตุทั้งสองหลังผู้เสียหายทั้งสองใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกับบุตรเล็ก ๆ ของผู้เสียหายที่ 2 อีกหลายคนและทำการค้าขาย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกับพวกเข้าไปที่บริเวณหน้าบ้านและร้านค้าที่เกิดเหตุและใช้ก้อนอิฐ ก้อนหิน ไม้ และสิ่งของอื่นขว้างปาประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้านรวมทั้งที่ทำลายข้าวของต่าง ๆ จนเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกดังกล่าวย่อมเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยปกติสุข อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบด้วยมาตรา 362 ดังที่โจทก์ฟ้องแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและพิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดฐานนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกที่บุกรุกเข้าไปขว้างปาบ้านของผู้เสียหายทั้งสองจนได้รับความเสียหายนั้นเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในความผิดฐานบุกรุกซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่ที่ศาลช้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 2 ปี นั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์และมูลเหตุในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ประกอบแล้ว เห็นว่ายังหนักเกินไป ศาลฎีกามีอำนาจที่จะกำหนดโทษเสียใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแห่งความผิดได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 362, 358, 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิดฐานบุกรุก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9