คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10663/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยได้ทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่ ซึ่งต่อมาจำเลยได้ปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่ตามข้อตกลงดังกล่าว และพนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์คดีนี้ได้รับการปรับเงินเดือนครั้งนี้แล้ว ส่วนการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนของจำเลยอีกครั้งหลังการปรับตามข้อตกลง ปรากฏว่ามีการดำเนินการจนเสร็จสิ้นตามขั้นตอนหลังจากโจทก์พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับการปรับเงินเดือนครั้งหลังด้วย (ฎ.7724 – 8191/2550)

ย่อยาว

คดีสองร้อยหกสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 6275/2548 ของศาลแรงงานกลาง โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 207 แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลแรงงานกลาง คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีสองร้อยหกสำนวนนี้
โจทก์ทั้งสองร้อยหกสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองร้อยหกเสียหายไม่ได้รับเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นตามโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่ซึ่งใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินที่จำเลยต้องจ่ายตามโครงการ Golden Handshake และโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) เป็นเงินเดือน ประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ค่าชดเชย เงินบำเหน็จกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินชดเชยภาษีเงินได้ และเงินรางวัลประจำปี โจทก์ทั้งสองร้อยทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไป ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินตามคำขอบังคับท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสองร้อยหกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองร้อยหก
โจทก์ทั้งสองร้อยหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองร้อยหกว่า โจทก์ทั้งสองร้อยหกมีสิทธิได้รับการปรับเงินเดือนตามโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยในการประชุมครั้งที่ 5/2548 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2548 หรือไม่ เห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2546 มีการตกลงให้ปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนโดยให้มีผลบังคับใช้ให้พนักงานได้รับเงินเดือนตามโครงสร้างอย่างช้าภายในวันที่ 1 เมษายน 2546 หากการพิจารณาอนุมัติจากส่วนราชการ หรือคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือคณะรัฐมนตรีเสร็จหลังกำหนดนี้จำเลยต้องจ่ายเงินเดือนตามโครงสร้างใหม่ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2546 แต่เนื่องจากบริษัทที่ปรึกษาที่จำเลยจ้างมาปรับปรุงโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนดำเนินการล่าช้า คณะกรรมการของจำเลยจึงขอให้จ่ายเงินเดือนตามโครงสร้างใหม่ย้อนหลังไม่เกินวันที่ 1 ตุลาคม 2546 และเสนอให้ปรับระยะเวลาการจ่ายย้อนหลังแยกเป็นส่วนๆ ตามระดับฐานะตำแหน่งของพนักงาน ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเห็นด้วยและในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 5/2547 เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2547 ที่ประชุมมีมติให้ปรับเงินเดือนสู่อัตราค่าแรงในตลาด 6 % ของเงินเดือนรวมค่าครองชีพโดยให้จ่ายย้อนหลังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 ถึงเดือนมีนาคม 2547 เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่จำเลยทำกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2547 เห็นชอบให้จำเลยปรับเงินเดือนให้พนักงานเพิ่มขึ้นในอัตรา 6 % โดยให้จ่ายย้อนหลังไม่เกินวันที่ 1 ตุลาคม 2546 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่จำเลยทำไว้กับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 ซึ่งโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 คือโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนตามเอกสารหมาย ล.6 ดังนั้นการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนตามข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2546 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินจึงเสร็จสิ้นลงและดำเนินการได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 28 ส่วนการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่ของจำเลยอีกครั้งหลังการปรับตามข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าวนั้น จำเลยมีประกาศแจ้งให้พนักงานทราบตั้งแต่ประกาศที่ 11/2547 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2547 ว่าในการปรับเงินเดือนตามข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่จำเลยมีข้อผูกพันอยู่กับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยนั้น เนื่องจากจะมีการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนเข้าสู่กระบอกเงินเดือนใหม่อีกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยจึงเสนออัตราการจ่ายย้อนหลังให้พนักงานระดับต่างๆ กับฝ่ายบริหารของจำเลยเสนออัตราการจ่ายย้อนหลังเป็นอีกอัตราหนึ่ง ซึ่งในที่สุดคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ใช้อัตราตามข้อเสนอของฝ่ายบริหารของจำเลย การปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนอีกครั้งหลังการปรับตามข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าวแม้เป็นแนวคิดที่มีอยู่ก่อนการปรับตามข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง แต่ก็ได้ความว่าวันที่ 10 กันยายน 2547 คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีมติในการประชุมครั้งที่ 7/2547 ให้จำเลยสามารถดำเนินการในเรื่องการกำหนดเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ เองได้เมื่อคณะกรรมการของจำเลยหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นชอบแล้ว และวันที่ 21 กันยายน 2547 คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ การที่จำเลยออกประกาศที่ 23/2547 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2547 เป็นเพียงการแจ้งแนวทางการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่จำเลยจะทำในอนาคตว่าจะดำเนินการด้วยวิธีใด แจ้งวิธีการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2547/2548 ซึ่งมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 โดยปรับให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่จะมีการปรับในอนาคตและให้พนักงานได้รับเงินส่วนเพิ่มจากการขึ้นเงินเดือนย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ในขณะที่มีประกาศที่ 23/2547 จำเลยยังไม่ได้เริ่มประชุมคณะกรรมการของจำเลยเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนอีกครั้ง ยังไม่มีโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่คณะกรรมการของจำเลยหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นชอบแล้วอันเป็นขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่จำเลยผู้เป็นรัฐวิสาหกิจอาจดำเนินการได้เองตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 (2) ตามที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอและคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบตามประกาศที่ 23/2547 ไม่ใช่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานของจำเลยจึงไม่ใช่สภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 6 ประกาศที่ 23/2547 เป็นแต่เพียงหนังสือแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ให้ทราบโดยทั่วกันเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกพันว่าจำเลยต้องปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนให้เป็นไปตามประกาศนั้น การที่จำเลยออกประกาศที่ 15/2548 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ยกเลิกประกาศที่ 23/2547 จึงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยได้มีประกาศที่ 27/2547 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2547 ว่าจำเลยได้ขึ้นเงินเดือนประจำปี 2547/2548 ตามโครงสร้างบัญชีเงินเดือนปัจจุบัน (รวมค่าครองชีพและ 6% แล้ว) โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 และแจ้งให้ทราบว่าเมื่อโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับอีกครั้งมีความสมบูรณ์ที่สุดแล้วจำเลยจะประกาศใช้และให้ปรับเงินเดือนเข้าสู่โครงสร้างที่ปรับอีกครั้งภายในวันที่ 30 เมษายน 2548 และต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2547 จำเลยออกประกาศที่ 29/2547 ให้ใช้โครงการ Golden Handshake และโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ให้พนักงานยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการได้ในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 28 มกราคม 2548 และมีผลเป็นการออกจากการเป็นพนักงานในวันที่ 1 เมษายน 2548 นั้นปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองร้อยหกซึ่งสมัครเข้าร่วมโครงการ Golden Handshake และโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) ได้รับการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2547/2548 ไปแล้ว และทราบว่ายังไม่มีโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับอีกครั้ง โดยจะมีการปรับเงินเดือนเข้าสู่โครงสร้างอีกครั้งภายในวันที่ 30 เมษายน 2548 หลังจากโจทก์ทั้งสองร้อยหกพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองร้อยหกก็ยังสมัครใจเข้าร่วมโครงการ Golden Handshake และโครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan) แม้ว่าคณะกรรมการของจำเลยจะมีการประชุมครั้งที่ 5/2548 ในวันที่ 30 มีนาคม 2548 ก่อนวันที่โจทก์ทั้งสองร้อยหกสิ้นสุดสภาพการเป็นพนักงาน 1 วัน และที่ประชุมมีมติอนุมัติในหลักการให้ปรับปรุงโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนในแนวทางเลือที่ 2 ที่ฝ่ายบริหารงานนโยบายเสนอ ก็เป็นเพียงการอนุมัติในหลักสาระสำคัญในการดำเนินการว่าให้มีการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนได้แต่ยังไม่เกิดโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่คณะกรรมการของจำเลยหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นชอบแล้วอันมีผลเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ส่วนการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2548 ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติให้ปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่รวมภาษีด้วยแล้ว (พนักงานเสียภาษีเอง) และให้พนักงานแสดงความจำนงเลือกใช้โครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่ที่รวมภาษีหรือเลือกใช้โครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนเดิมที่จำเลยจะปรับเงินเดือนเพิ่มให้ไม่เกิน 3 % ภายในวันที่ 20 พฤษภาคม 2548 และให้ฝ่ายบริหารของจำเลยดำเนินมาตรการพิเศษเพื่อเพิ่มกำไรสุทธิให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายตามที่ฝ่ายบริหารนำเสนอพร้อมกับการเสนอขอปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนในครั้งนี้ รวมทั้งให้เร่งปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่ให้เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจเพื่อความมีประสิทธิภาพและสามารถแข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันได้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไปนั้น ปรากฏว่าการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนตามมติที่ประชุมดังกล่าวมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการตามที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 7/2548 วันที่ 12 พฤษภาคม 2548 คณะกรรมการของจำเลยจึงมีมติให้ใช้โครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่ไม่รวมภาษีซึ่งเป็นโครงสร้างที่ฝ่ายบริหารนำเสนอเป็นแนวทางเลือกที่ 2 ต่อคณะกรรมการของจำเลยในการประชุมครั้งที่ 5/2548 ไปก่อน โดยให้จ่ายเงินเดือนพนักงานตามโครงสร้างดังกล่าวได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2548 เป็นต้นไป และให้ใช้โครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่รวมภาษี (พนักงานเสียภาษีเอง) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป กับให้ฝ่ายบริหารดำเนินมาตรการพิเศษเพื่อเพิ่มกำไรสุทธิให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายตามที่ฝ่ายบริหารเสนอพร้อมกับการปรับปรุงโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือน ดังนั้นโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนที่ปรับอีกครั้งหลังการปรับตามข้อตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องแล้วจึงเกิดขึ้นและเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินตามมติคณะกรรมการของจำเลยในการประชุมครั้งที่ 7/2548 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2548 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทั้งสองร้อยหกพ้นสภาพการเป็นพนักงานของจำเลยแล้ว แม้ในการประชุมครั้งที่ 7/2548 ที่ประชุมมีมติว่าในช่วงแรกให้ใช้ตามโครงสร้างที่ฝ่ายบริหารนำเสนอเป็นแนวทางเลือกที่ 2 ต่อคณะกรรมการของจำเลยในการประชุมครั้งที่ 5/2548 ไปก่อน ก็เป็นแต่เพียงการอ้างอิงถึงโครงสร้างที่ฝ่ายบริหารนำเสนอในการประชุมครั้งที่ 5/2548 เท่านั้น ไม่ได้ทำให้มติที่ประชุมครั้งที่ 5/2548 กลายเป็นมติให้ความเห็นชอบในโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนอันเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินตามมติของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี โจทก์ทั้งสองร้อยหกจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเงินเดือนตามโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนตามมติที่ประชุมครั้งที่ 5/2548 ส่วนมติที่ประชุมครั้งที่ 7/2548 ฝ่ายบริหารของจำเลยก็ต้องดำเนินมาตรการพิเศษเพื่อเพิ่มกำไรสุทธิให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายเป็นการตอบแทนไม่ใช่เป็นการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนให้เปล่า โจทก์ทั้งสองร้อยหกพ้นสภาพการจ้างเป็นพนักงานแล้ว ไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการตามมาตรการพิเศษเพื่อเพิ่มกำไรสุทธิให้คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนได้ โจทก์ทั้งสองร้อยหกจึงไม่มีสิทธิได้รับประโชน์จากสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังโดยการปรับเงินดือนตามโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือนใหม่ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยในการประชุมครั้งที่ 7/2548 เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2547 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองร้อยหกฟังไม่ขึ้น ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าประกาศจำเลยที่ 16/2548 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2548 ขัดต่อมติของคณะกรรมการของจำเลยในการประชุมครั้งที่ 7/2548 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share