คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3798/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยอยู่ห่างเพียง 2 ถึง 3 ก้าว ตอนที่เจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมคนเล่นการพนันนั้นนับว่าใกล้ชิดกับวงการพนัน ต้องด้วย ข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเล่นการพนันตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติ การพนันฯ จำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้าง แม้จำเลยจะมีพยานหลายปาก มาสืบว่า ตอนเกิดเหตุจำเลยนั่งกินส้มตำอยู่หลังบ้าน แต่จำเลยหาได้ ถามค้านพยานผู้จับกุมให้ปรากฏว่า โต๊ะที่จำเลยนั่งไม่ใช่โต๊ะที่ใช้ เล่นการพนัน กลับได้ความจากผู้จับกุมว่าของกลางที่ยึดได้นั้นวางอยู่ หน้าจำเลยซึ่งขณะนั้นจำเลยกำลังยืนขึ้น พยานจำเลยไม่มีน้ำหนัก หักล้างพยานโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 และให้จำเลยใช้เงินค่าสินบนนำจับ

จำเลยให้การปฏิเสธมาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 และให้จำเลยใช้เงินค่าสินบนนำจับ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 3 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12(2) จำคุก 3 เดือน และปรับ 1,800 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 1,200 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุซึ่งมีผู้ลักลอบเล่นการพนันพร้อมทั้งแจ้งข้อหาว่า เล่นการพนันไฮโลว์โดยไม่ได้รับอนุญาตคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายดาบตำรวจสุรชัย อารัมย์ และร้อยตำรวจโทบุญเปลี่ยน มีสา ผู้จับกุมเบิกความว่าเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2541 เวลาประมาณ 14 นาฬิกา พยานทั้งสองกับพวกได้รับแจ้งจากสายลับว่าที่บ้านรังกา ตำบลชุมเห็ด อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีการลักลอบเล่นการพนัน จึงรายงานให้พันตำรวจตรีรุทธพลทราบจากนั้นได้วางแผนจับกุม โดยแบ่งกำลังออกเป็น 2 ชุด เพื่อเข้าทั้งด้านหน้าและด้านหลังของสถานที่ลักลอบเล่นการพนัน ถึงที่เกิดเหตุพยานทั้งสองกับพวกอ้อมไปทางหลังบ้าน ซึ่งมีการกางเต็นท์สำหรับผู้มาร่วมงาน พบชาวบ้านประมาณ 30 ถึง 40 คน กำลังเล่นการพนันต่าง ๆ พยานทั้งสองกับพวกแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและเข้าจับกุม ปรากฏว่าจับกุมจำเลยและผู้เล่นการพนันคนอื่นรวมประมาณ 10 คน พร้อมทั้งยึดได้ลูกเต๋า 3 ลูก กระดาษบอกแต้ม 1 แผ่น และเงิน 5 บาท เป็นของกลางชั้นจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจแจ้งข้อหาจำเลยว่าเล่นการพนันไฮโลว์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.1 จากนั้นพยานทั้งสองกับพวกได้นำจำเลยพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งคดี จะมีแตกต่างกันบ้างก็เฉพาะพลความเท่านั้น ประกอบกับพยานทั้งสองไม่เคยรู้จักจำเลยหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนอันจะมาเป็นสาเหตุให้แกล้งเบิกความปรักปรำใส่ร้ายจำเลยได้ จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากนี้เบิกความไปตามความจริง ยิ่งกว่านี้ร้อยตำรวจโทบพิตร พรมโยธา พนักงานสอบสวนได้เบิกความสนับสนุนว่า ในชั้นสอบสวนพยานได้แจ้งข้อหาจำเลยว่า เล่นการพนันไฮโลว์โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ตามบันทึกการแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุมหรือผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.4 และบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งพยานโจทก์ปากนี้เป็นเจ้าพนักงานและไม่รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนจึงเชื่อว่าพยานโจทก์ปากนี้เบิกความไปตามจริง ที่จำเลยนำสืบว่าตอนเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมคนเล่นการพนันนั้น จำเลยนั่งรับประทานส้มตำอยู่ใกล้กับวงเล่นการพนันห่างกันเพียง 2 ถึง 3 ก้าวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยอยู่ห่างเพียง 2 ถึง 3 ก้าว เช่นนี้นับว่าใกล้ชิดกับวงการพนัน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเล่นการพนันตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ซึ่งจำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้าง ถึงแม้จำเลยจะมีพยานหลายปากมาสืบว่า ตอนเกิดเหตุจำเลยนั่งกินส้มตำอยู่หลังบ้านก็ตาม แต่จำเลยก็หาได้ถามค้านพยานผู้จับกุมให้ปรากฏว่า โต๊ะที่จำเลยนั่งรับประทานส้มตำนั้นไม่ใช่โต๊ะที่ใช้เล่นการพนัน กลับได้ความจากพยานผู้จับกุมตอนตอบทนายจำเลยถามค้านว่าของกลางที่ยึดได้นั้นวางอยู่หน้าจำเลยซึ่งขณะนั้นจำเลยกำลังยืนขึ้นซึ่งวงพนันของจำเลยนั้นจับกุมได้เพียง 2 คน คือจำเลยและผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยยอมลงลายมือชื่อในเอกสารที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาให้โดยไม่ทราบว่าเป็นเอกสารใด เหตุที่ยอมลงลายมือชื่อเนื่องจากเรื่องจะได้จบและออกจากที่คุมขังนั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจไม่น่าจะกระทำเช่นนั้น เพราะไม่เคย มีสาเหตุกับจำเลยและเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้พยานโจทก์ที่นำสืบมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องพยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share