แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดเป็นพนักงานขับรถยนต์บรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ของจำเลย ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด โดยได้รับเงินเดือนและค่าเที่ยวอีกส่วนหนึ่ง เมื่อจำเลยกำหนดค่าเที่ยวให้โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดตามระยะทางเป็นสำคัญโดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ แสดงว่าค่าเที่ยวไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการขับรถในส่วนที่เกินเวลาทำงานปกติ แต่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการเดินทางไปปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยตกลงให้จ่ายค่าเที่ยวเป็นการตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ เงินค่าเที่ยวจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 6
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สิบสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 42 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสี่สิบสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 6 ที่ 7 ที่ 18 ที่ 20 และที่ 25 ขอถอนฟ้อง ศาลแรงงานกลางอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ดังกล่าวจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่สิบสอง (ที่ถูกโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ด) อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดว่า เงินค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับและไม่ได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติแล้วว่างานที่โจทก์ทั้งหมดต้องปฏิบัติคือการขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์จากศูนย์กระจายสินค้า อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยทั่วประเทศ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยวตามระยะทางใกล้ไกลที่ต้องขับรถไปทำงานในแต่ละเที่ยว กำหนดอัตราค่าเที่ยวเป็นจำนวนแน่นอนสามารถคำนวณได้ตามระยะทางและจำนวนเที่ยวที่โจทก์แต่ละคนทำได้ตามตารางกำหนดอัตราค่าเที่ยว ซึ่งมีผลบังคับนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 โดยกำหนดระยะทางไว้เป็นกิโลเมตร และจำนวนพนักงานขับรถคูณด้วยค่าเที่ยว เช่น ลำดับที่ 5 สระบุรี 110 กิโลเมตร ค่าเที่ยว 200 บาท คูณด้วย 1 (ขับคนเดียว) ลำดับที่ 14 พระนครศรีอยุธยา 55 กิโลเมตร ค่าเที่ยว 200 คูณด้วย 1 (ขับคนเดียว) โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติว่า การขับรถไปส่งสินค้าระยะประมาณ 100 กิโลเมตร เช่น จังหวัดสระบุรีหรือพระนครศรีอยุธยา พนักงานขับรถได้รับค่าขับรถต่อเที่ยวคนละ 200 บาท หรืออัตราเฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 2 บาท และการขับรถไปส่งสินค้าระยะไกลเกิน 1,000 กิโลเมตร เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พนักงานขับรถยังได้ค่าขับรถต่อเที่ยวเพียงคนละ 1,000 บาท หรืออัตราเฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 1 บาทเศษ เห็นได้ว่าค่าเที่ยวดังกล่าวกำหนดขึ้นตามระยะทางเป็นสำคัญโดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ แสดงว่าค่าเที่ยวดังกล่าวไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการขับรถในส่วนที่เกินเวลาทำงานปกติ แต่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการเดินทางไปปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ จึงไม่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้พนักงานขับรถเป็นการตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ทั้งคดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกกับจำเลยมีข้อตกลงให้จ่ายค่าเที่ยวเป็นการตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ เงินค่าเที่ยวดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 5 ดังกล่าวแม้โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) แต่จำเลยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งหมดสำหรับระยะเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้นด้วย หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่…
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ถึงที่ 24 และที่ 26 ถึงที่ 42 ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคท้าย
??
??
??
??
2/2