คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4021/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย ดังนั้น นอกจากจำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว จำต้องให้การแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏด้วย เมื่อจำเลยให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเนื่องจากจำเลยไม่เคยนำเงินต้นและดอกเบี้ยมาชำระให้แก่โจทก์ โดยมิได้กล่าวถึงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเมื่อใดนับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีขาดอายุความไปแล้ว เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 126,628 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 45,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์ขาดอายุความที่จะฟ้องร้องตามสัญญากู้ โดยข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องว่านับแต่กู้เงินถึงวันฟ้องจำเลยไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์ และสัญญากู้มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องเริ่มนับแต่วันทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันฟ้องจึงเกินกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วย ดังนั้น นอกจากจำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วจำเลยต้องให้การโดยแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏด้วย เมื่อจำเลยให้การเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเนื่องจากจำเลยไม่เคยนำเงินต้นและดอกเบี้ยมาชำระให้แก่โจทก์ โดยมิได้กล่าวถึงเหตุแห่งการขาดอายุความให้ปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเมื่อใดนับแต่วันใดถึงวันฟ้องคดีขาดอายุความไปแล้ว เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share