คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2220/2552

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่าง ส. และจำเลยที่ 1 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ สินสมรสส่วนของ ส. กึ่งหนึ่งจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดก เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาท เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่ใช่มีลักษณะเป็นตัวแทนของทายาทเพราะบทบัญญัติของกฎหมายบรรพ 6 ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายบรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น
การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกของ ส. บางส่วนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ตนเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสของ ส. และให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. อีกคนหนึ่ง การกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722
ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ไม่ทำการโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของ ส. ซึ่งมีโจทก์ทั้งห้ารวมอยู่ด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. และโจทก์ทั้งห้าที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท. ซึ่งเป็นทายาทของ ส. คนหนึ่ง จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำโดยตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1723
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ท. ได้ครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ส. แต่ผู้เดียวนับแต่เจ้ามรดกตาย โดยทายาทคนอื่นรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวด้วยแต่อย่างใดกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่า ท. ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวแทนทายาทอื่น จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี จึงขาดอายุความตาม มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
เมื่อสิทธิในทรัพย์มรดกตกแก่ ท. โดยสมบูรณ์ นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 1 ปี นับแต่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นทายาทของ ท. ที่มีสิทธิรับมรดกของ ท. ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นบุคคลซึ่งชอบจะใช้สิทธิของทายาทอื่นจะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ ตาม มาตรา 1755
การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินทรัพย์มรดกภายหลังจากที่ทายาทอื่นของ ส. ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 สิ้นสิทธิในการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกแล้ว เป็นการยื่นเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียน เพื่อให้ ท. ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แล้วไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 7461 เลขที่ดิน 77 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนที่เหลือจากการแบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 36287 เลขที่ดิน 110 ให้แก่โจทก์ทั้งห้าและทายาทของนายสาหร่าย ตามส่วนที่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนมรดกโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้าและทายาทของนายสาหร่ายทุกคน ตามส่วนที่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12933 เลขที่ดิน 463 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา จากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสาหร่าย เผือกพูลผล และเพิกถอนการยกให้ที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 7 แล้วให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งห้าทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสาหร่าย เผือกพูลผล ทุกคนตามส่วนที่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย หากจำเลยที่ 1 และที่ 7 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12933 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2537 ระหว่างนางสายทอง จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของนายสาหร่าย กับนางสายทอง (ที่ถูก นางสายใจ) จำเลยที่ 7 และให้เพิกถอนการจดทะเบียนยกให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 12933 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 ระหว่างนางสายทอง จำเลยที่ 1 กับนางสายใจ (ที่ถูก นางสายใจ) จำเลยที่ 7 หากไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 7 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับจำเลยที่ 2 และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 36287 ให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุทินหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 36287 เป็นสินสมรสระหว่างนายสาหร่าย และจำเลยที่ 1 เมื่อนายสาหร่ายถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ สินสมรสส่วนของนายสาหร่ายกึ่งหนึ่งจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสาหร่ายตามคำสั่งศาล ย่อมมิใช่ตัวแทนของทายาทดังที่โจทก์ฎีกา เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากทายาท ซึ่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 6 ลักษณะมรดกให้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะตัวแทนมาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น นายสุทิน เป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของนายสาหร่าย เมื่อนายสุทินถึงแก่ความตายมรดกส่วนของนายสุทินที่จะได้รับย่อมตกแก่ทายาทของนายสุทินคือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงเป็นผู้สืบสิทธิของนายสุทิน เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุทินจึงเป็นผู้แทนของทายาทของนายสุทินมีอำนาจรับโอนมรดกส่วนของนายสุทิน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสของนายสาหร่ายด้วยคนหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกของนายสาหร่ายบางส่วนให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัว ในฐานะที่ตนเป็นทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรสของนายสาหร่าย และให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุทินเช่นนี้ไม่เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 ดังที่โจทก์ทั้งห้าฎีกา การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสาหร่ายไม่ทำการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 36287 ให้แก่ทายาทอื่นของนายสาหร่ายซึ่งมีโจทก์ทั้งห้ารวมอยู่ด้วยก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสาหร่ายและโจทก์ทั้งห้าที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสาหร่ายโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 36287 ให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุทิน จึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องกระทำเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และมาตรา 1723 ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าและตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ว่า คดีของโจทก์ทั้งห้าขาดอายุความมรดกหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่นายสาหร่ายมีชีวิตได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 36287 ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7461 ให้แก่นายสุทินปลูกบ้าน นายสุทินและจำเลยที่ 2 พร้อมบุตร คือจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ต่างเข้าครอบครองที่ดินตามที่ยกให้ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 7 และโจทก์ทั้งห้าไม่ได้เกี่ยวข้องหรือมีเจตนาครอบครองที่ดินและบ้านเลขที่ 17,17/1 และ 17/4 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยนายสาหร่าย จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 7 และโจทก์ทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินและพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 17/2 ซึ่งปลูกอยู่ใกล้กัน ต่อมาโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ได้แยกครอบครัวไปอยู่ที่อื่น ครั้นเมื่อนายสาหร่ายถึงแก่ความตาย นายสุทินและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ก็คงครอบครองที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 17,17/1 และ 17/4 โดยจำเลยที่ 1 ที่ 7 และโจทก์ทั้งห้าไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องหรือโต้แย้งการครอบครอง ทั้งในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินซึ่งมีบ้านเลขที่ 17,17/1 และ 17/4 ปลูกอยู่นั้น โจทก์ทั้งห้าก็รู้เห็นและทราบโดยไม่โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใดเช่นกัน ดังนี้ถือได้ว่า นายสุทินได้ครอบครองที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 17,17/1 และ 17/4 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายสาหร่ายแต่ผู้เดียวนับแต่เจ้ามรดกตาย โดยจำเลยที่ 1 ที่ 7 และโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ร่วมครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายสนับสนุนว่า การที่นายสุทินครอบครองทรัพย์มรดกของนายสาหร่ายดังกล่าวเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 เมื่อนายสาหร่ายถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2528 โจทก์ทั้งห้าฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 เกิน 1 ปี คดีโจทก์ทั้งห้าย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง สิทธิในทรัพย์มรดกดังกล่าวย่อมตกแก่นายสุทินโดยสมบูรณ์ นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 1 ปี นับแต่นายสาหร่ายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นทายาทของนายสุทินมีสิทธิรับมรดกของนายสุทิน ทั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายสุทินถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นบุคคลซึ่งชอบจะใช้สิทธิของทายาทอันจะยกอายุความหนึ่งปีขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งห้าได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1755 แม้จำเลยที่ 1 จะยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสาหร่ายในเวลาต่อมา ก็เป็นการยื่นคำร้องภายหลังที่ทายาทอื่นของนายสาหร่ายซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 สิ้นสิทธิในการเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกแล้ว เมื่อฟังประกอบข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินแล้วเห็นได้ว่า การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เป็นการยื่นเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียน เพื่อให้นายสุทินได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ทายาทอื่นซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แล้วไม่ คำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ทั้งห้าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าที่ว่า ทายาทตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกและต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัดหรือไม่และปัญหาตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ที่ว่า ที่ดินตกเป็นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 ยกสินสมรสส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุทินหรือไม่ ตามที่โจทก์ทั้งห้าฎีกานั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเพราะกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้าแต่อย่างใด ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่โต้แย้งฎีกาคัดค้านจึงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งห้ามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาเห็นสมควรเป็นพับ.

Share