แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ในวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ต่อไป เมื่องานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 และเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยครบกำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 30 ปี นับแต่วันโฆษณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 งานดังกล่าวจึงยังไม่สิ้นอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่ 21 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองไว้ในหมวด 1 โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป การได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 จึงหมายความรวมถึงการได้รับความคุ้มครองภายใต้กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 ถึงมาตรา 26 ด้วย เมื่องานสร้างสรรค์ตามฟ้องเป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและมีการโฆษณางานดังกล่าวแล้ว จึงมีอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้าย
การวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง มีความหมายเพียงว่า งานนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป แต่มิได้มีผลเป็นการขยายอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เป็นการตีความยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 เพียงส่วนเดียว คือ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์เท่านั้นที่ยังคงใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 โดยไม่ปรากฏว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลพิเศษใดในการแบ่งแยกการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นสองพระราชบัญญัติเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปรัชญาการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งาน ทั้งยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่เล็งเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 นั้นล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ ส่วนบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับไม่สอดคล้องกับความใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคสอง และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคสอง ที่บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกับความในวรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้งานซึ่งไม่เคยได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติเดิมทั้งสองฉบับได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ภายใต้กำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ย่อมแสดงให้เห็นว่า การตีความคำว่า “ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้” ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือนำหลักเกณฑ์เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้ว ยังเป็นการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 31, 61, 70, 73, 75, 76 และ 78 ให้ของกลางที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และสั่งให้จ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และวางโทษสองเท่าแก่จำเลยด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้ระวางโทษเป็นสองเท่า
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังยุติว่า บริษัทฟูจิโกะ-เอฟ-ฟูจิโอะ โปร จำกัด ผู้เสียหาย เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่น และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอน งานดังกล่าวมีการโฆษณาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2512 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย จึงเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 โดยมีอายุความคุ้มครองตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ 30 ปี นับแต่วันที่มีการโฆษณางานครั้งแรก ซึ่งครบกำหนด 30 ปี ในวันที่ 1 ธันวาคม 2542 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มีผลใช้บังคับวันที่ 19 ธันวาคม 2521 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มีผลใช้บังคับวันที่ 21 มีนาคม 2538
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้าย หรือไม่ เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล บัญญัติว่า งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 หรือพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ในวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้องเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และครบกำหนดอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าววันที่ 1 ธันวาคม 2542 งานสร้างสรรค์ตามฟ้องจึงยังอยู่ในอายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ จึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ย่อมได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เมื่อพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ไว้ในหมวด 1 โดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วน กล่าวคือ งานอันมีลิขสิทธิ์ การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไป ดังนั้นการได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ของงานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 จึงหมายความรวมถึงการได้รับความคุ้มครองภายใต้กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 ถึงมาตรา 26 ด้วย เมื่องานสร้างสรรค์ตามฟ้องเป็นกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลและมีการโฆษณางานดังกล่าวแล้วจึงมีอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 วรรคท้าย ส่วนการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ให้ได้รับความคุ้มครองต่อไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น มีความหมายเพียงว่างานนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองต่อไป แต่มิได้มีผลเป็นการขยายอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้แก่งานอันมีลิขสิทธิ์นั้น เป็นการตีความยกเว้นมิให้นำบทบัญญัติการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 เพียงส่วนเดียว คือ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยให้ใช้อายุคุ้มครอง 30 ปี นับแต่วันที่โฆษณางานเป็นครั้งแรก ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 โดยไม่ปรากฏในคำวินิจฉัยว่ามีหลักเกณฑ์และเหตุผลพิเศษใดในการแบ่งแยกการให้ความคุ้มครองเป็นสองพระราชบัญญัติเช่นนั้น นอกจากนี้การตีความดังกล่าวยังมีผลเป็นการจำกัดสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ซึ่งไม่สอดคล้องกับปรัชญาการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มุ่งส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยมีค่าตอบแทนเป็นแรงจูงใจในการสร้างสรรค์งาน ทั้งการตีความจำกัดสิทธิดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการบัญญัติพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ที่ให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ว่า เหตุที่บัญญัติพระราชบัญญัติดังกล่าวเนื่องจากบทบัญญัติต่าง ๆ ในพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 ที่เกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ล้าสมัยและไม่ให้ความคุ้มครองได้กว้างขวางเพียงพอ และได้ความตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ว่า เหตุที่บัญญัติพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้การตีความพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับความในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคสอง และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคสอง ที่บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำทำนองเดียวกันกับความในวรรคหนึ่งว่า งานที่ได้จัดทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ และไม่มีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 แต่เป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ เช่น งานแพร่เสียงแพร่ภาพ งานรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่ และงานศิลปประยุกต์ ซึ่งมิใช่ลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474 แต่เป็นลักษณะงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 งานดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ภายใต้อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 50 ปี และ 25 ปี ตามมาตรา 19 มาตรา 21 และมาตรา 22 ตามลำดับ ย่อมแสดงให้เห็นว่า การตีความคำว่า “ให้ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้” ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ต้องเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือนำหลักเกณฑ์เรื่องอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับด้วย เพราะนอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้ว ยังเป็นการตีความกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับการกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย โดยอนุสัญญาดังกล่าวประสงค์ให้ประเทศภาคีสมาชิกกำหนดอายุการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมตั้งแต่ 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย หรือนับแต่วันได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกแล้วแต่กรณี ฉะนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมภาพการ์ตูนโดราเอมอนของผู้เสียหายตามฟ้อง มีอายุการคุ้มครองเพียง 30 ปี ขณะจำเลยกระทำความผิดคดีนี้พ้นกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่ผู้เสียหายโฆษณาภาพการ์ตูนดังกล่าวเป็นครั้งแรก จึงไม่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ต่อไป แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น…
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง ระวางโทษเป็นสองเท่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 73 ลงโทษปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ของกลางทั้งหมดที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ และให้จ่ายค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง