คำวินิจฉัยที่ 16/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๖/๒๕๔๕

วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง (๑)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนนทบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นเดียวกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี ยื่นคำร้อง ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี เป็นคดีแพ่ง หมายเลขดำ ที่ ๑๐๐๙/๒๕๔๔ ความว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ นายคำตัน แถมเงิน นายสมศักดิ์ อู่ใหม่ และนายทองหล่อ อู่ใหม่ ได้ทำการก่อสร้างอาคารรุกล้ำลำคลองสาธารณะ (คลองส่วย) ซอยประชาชื่น ๗ ถนนประชาชื่น หมู่ที่ ๑ ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และปิดกั้นที่ดินของนางอุมากร สนเจริญ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและโรงเรียนอนุบาล ทำให้เจ้าของที่ดินและผู้ปกครองนักเรียนได้รับความเดือดร้อน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้มีคำสั่งตามหนังสือเลขที่ นบ ๕๒๐๐๖/๒๘๙๐ นบ ๕๒๐๐๖/๒๘๙๑ นบ ๕๒๐๐๖/๒๘๙๒ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๔๑ ให้นายคำตัน แถมเงิน นายสมศักดิ์ อู่ใหม่ และนายทองหล่อ อู่ใหม่ รื้อถอนอาคารดังกล่าวออกจากริมคลองส่วยภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง แต่บุคคลทั้งสามเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว และไม่มีวิธีบังคับอื่นใดที่ผู้ร้องจะใช้บังคับได้ จึงขอให้ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓(๑)
ศาลจังหวัดนนทบุรีเห็นว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๕) จึงไม่รับคำร้อง
ศาลปกครองกลางเห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๕) ประกอบกับมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด โดยศาล มีอำนาจกำหนดคำบังคับสั่งให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อคดีนี้ผู้ร้องมิได้มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสามต้องกระทำหรือละเว้นกระทำ อย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่มีคำขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังผู้ถูกร้องทั้งสาม ซึ่งมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ร้องตามมาตรา ๔๓(๑) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๑

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลซึ่งมิได้ปฏิบัติการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๑ บัญญัติว่า “ผู้ใดจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และดำเนินการตามมาตรา ๓๙ ทวิ”
ในกรณีที่มีการก่อสร้างอาคารฝ่าฝืนกฎหมายและไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจตามมาตรา ๔๒ ที่จะออกคำสั่งทางปกครองให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน หากไม่มีการรื้อถอนตามคำสั่งดังกล่าว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจตามมาตรา ๔๓ ดังต่อไปนี้
(๑) ยื่นคำขอฝ่ายเดียวโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๔๒ ได้ล่วงพ้นไป ขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลซึ่งมิได้ปฏิบัติการตามคำสั่งของ
เจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา ๔๒ โดยให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
(๒) ดำเนินการหรือจัดให้มีการรื้อถอนอาคารดังกล่าวได้เอง โดยจะต้องปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนไว้ในบริเวณนั้นแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบอาคาร ผู้รับผิดชอบงานออกแบบและคำนวณอาคาร ผู้ควบคุมงาน และผู้ดำเนินการ จะต้องร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายในการนั้น เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้เป็นผู้กระทำหรือมีส่วนร่วมในการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
นอกจากนั้น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ยังได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับการฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ และมาตรา ๔๒ ไว้ด้วยอีกส่วนหนึ่ง
เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง (๑) แล้วเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลนั้นเป็นกรณี ต่อเนื่องมาจากการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งทางปกครองแก่บุคคลแล้ว แต่บุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตาม คำสั่งดังกล่าว กฎหมายจึงกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลซึ่งมิได้ปฏิบัติการตามคำสั่ง โดยนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมการใช้อำนาจตามมาตรานี้จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด อันมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ที่บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้

(๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด
…”
และตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๒ บัญญัติว่า “ในการพิพากษาคดี ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับอย่างหนึ่ง
อย่างใด ดังต่อไปนี้

(๕) สั่งให้บุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

ในกรณีที่ศาลปกครองมีคำบังคับตามวรรคหนึ่ง (๕) หรือตามวรรคสี่ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม
…”
จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองสามารถนำบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้โดยอนุโลม ศาลปกครองจึงมีอำนาจออกคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลในกรณีที่บุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลปกครอง ทั้งนี้โดยนำความในมาตรา ๒๙๗ ถึง ๓๐๒ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลของศาลตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง (๑) เป็นมาตรการบังคับเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นสำคัญ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคำขอดังกล่าวและมีอำนาจในการออกคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลเพื่อให้กระทำการตามคำสั่งทางปกครองของเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงควรเป็นศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลซึ่งมิได้ปฏิบัติการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง (๑) โดยนายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี ผู้ร้อง อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share