คำวินิจฉัยที่ 49/2547

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๙/๒๕๔๗

วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๖ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่๓ นายกาเด็ด ขันธวิธิ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๓/๒๕๔๖ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาวัดร้างตามกฎหมายและยื่นหนังสือต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๖๑๖๗ เลขที่ดิน ๕/๔๒๘ ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีนางสละ มังกะลัง นางรัตนา ขันธวิธิ นายกาเด็ด ขันธวิธิ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเรียกเข้ามาในคดี)นายฮีม มังกะลังและนายซอ นิรภัย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ออกทับที่ดินวัดนก(ร้าง) ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือชี้แจงว่าโฉนดที่ดินพิพาทได้ออกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงได้อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เห็นว่าคำสั่งปฏิเสธการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏ เนื่องจากเป็นการออกโฉนดพิพาททับที่ดินวัดนก(ร้าง) จึงขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ และมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทตามขั้นตอนของกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ ๑ – ๒ – ๗๑ไร่ซึ่งได้ออกโฉนดไว้เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๕ โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านการรังวัดแต่อย่างใดปัจจุบันมีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ๕ คน คือนางสละ มังกะลัง นางรัตนา ขันธวิธิ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ นายฮีม มังกะลังและนายซอ นิรภัย ทั้งเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๑๒ ก็มีการรังวัดสอบเขตโฉนดที่ดินดังกล่าวอีกปรากฏว่าเจ้าของที่ดินแปลงข้างเคียงและผู้ปกครองท้องที่ได้ลงนามรับรองแนวเขตโดยไม่มีการคัดค้าน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ตามที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งปฏิเสธการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าที่ดินข้างเคียงที่ดินพิพาทจำนวน ๑๐ แปลง ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๕๙๙/๒๕๓๑ ว่า เป็นที่ดินของวัดนก(ร้าง) และมีหลักฐานปรากฏว่าเป็นที่ดินของวัดนก(ร้าง)การรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะต้องเพิกถอนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินนั้น จากการตรวจสอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ปรากฏว่าตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยแต่เพียงว่า เนื้อที่ดินบางส่วนประมาณ ๓ ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ ๖๑๖๘ ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงตามโฉนดพิพาทเป็น ที่วัดนก(ร้าง) ส่วนโฉนดที่ดินอีก ๙แปลง ไม่ปรากฏว่าศาลฎีกาได้พิพากษาว่าเป็นที่ดินของวัดนก(ร้าง) แต่อย่างใด และยังมิได้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๑๐ แปลง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เห็นว่าอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไม่มีพยานหลักฐานเพิ่มเติม คำสั่งปฏิเสธการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทจึงชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของ ผู้ฟ้องคดีฟังไม่ขึ้น
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่าได้ทำการออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ของวัดนก(ร้าง) และมิใช่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓โดยผู้ฟ้องคดีทราบอยู่แล้วว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ไม่พบหลักฐานว่าการออกโฉนดที่ดินพิพาทคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีมีหลักฐานยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นที่วัดนก(ร้าง) ผู้ฟ้องคดีชอบที่จะฟ้องคดีต่อศาลได้โดยตรง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้อยู่แล้ว โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่๔ กับพวกได้ฟ้องขับไล่นายอิสมาแอน พลีเขตต์ กับพวก เป็นจำเลยในศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยู่แล้ว และจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินวัดนก(ร้าง) ซึ่งผู้ฟ้องคดีอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเข้าเป็นจำเลยร่วม หรือร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของวัดนก(ร้าง) ผู้ฟ้องคดีสามารถขอให้ศาลตรวจพิสูจน์สภาพที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินวัดนก(ร้าง) โดยขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร แต่ผู้ฟ้องคดีกลับละเลยไม่เข้าไปในคดีดังกล่าวตามหน้าที่ในการดูแลรักษาที่ดินวัดนก(ร้าง) แต่ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้เป็นภาระและเป็นการบีบบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ใช้อำนาจเพิกถอนที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาท ซึ่ง ได้ออกมาตั้งแต่ปี ร.ศ.๑๒๕ และทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ อาจต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาท และการที่ศาลมีคำสั่งเรียก นายกาเด็ด ขันธวิธิ เข้ามาในคดีในฐานะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทำให้ศาลต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ถูกฟ้องคดีที่๔ กับพวกหรือเป็นที่ดินของวัดนก(ร้าง) แล้วจึงวินิจฉัยว่าคำสั่งปฏิเสธไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นประเด็นพิพาทโดยตรงในคดีนี้คือที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของเอกชนหรือเป็นที่ดินของวัดซึ่งเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม พร้อมทั้งยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลว่ามิใช่คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) ประกอบมาตรา๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา หรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎคำสั่ง หรือกระทำการอื่นใด หรือเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับสั่งให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่งนั้น หรือสั่งให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลปกครองกำหนด เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒และที่ ๓ มีคำสั่งปฏิเสธไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทที่ออกทับที่ของวัดนก(ร้าง) จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจตามกฎหมายในการออกโฉนดที่ดินและเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินเมื่อความปรากฏว่าได้มีการออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ออกคำสั่งปฏิเสธไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ในการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และการที่ศาลมีคำสั่งเรียกผู้ถูกฟ้องคดีที่๔ เข้ามาในฐานะ ผู้ถูกฟ้องคดีที่๔ นั้น เนื่องจากตามมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใด ๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า จึงได้มีคำสั่งเรียกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เข้ามาในคดี
ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๖๗ ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ออกทับที่ดินของวัดนก(ร้าง)เป็นการออกโฉนดที่ดินโดยคลาดเคลื่อนหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่๑ ถึงที่ ๓มีคำสั่งปฏิเสธการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) ประกอบมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าโฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่วัดนก(ร้าง)ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่๓ จะมีคำสั่ง เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทหรือไม่ จึงต้องได้ข้อเท็จจริงเป็นยุติก่อนว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของเอกชนหรือเป็นที่ดินของวัด ซึ่งเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ อันเป็นคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๖๑๖๗ ตำบลลุมพลี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาออกทับที่ดินของวัดนก(ร้าง) ซึ่งเป็นการออกโฉนดโดยคลาดเคลื่อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาวัดร้างจึงได้แจ้งให้เพิกถอนโฉนดดังกล่าว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓มีคำสั่งปฏิเสธการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามร่วมกันดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ให้การในทำนองเดียวกันว่าโฉนดที่ดินพิพาทออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ของวัดนก(ร้าง) นอกจากนี้ศาลยังได้มีคำสั่งเรียกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินพิพาทเข้ามาในคดีอีกด้วย ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาในปัญหาว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของวัดนก(ร้าง) หรือของผู้มีชื่อในโฉนดเป็นสำคัญ จึงเป็นกรณีพิพาทอันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้ฟ้องคดี กรมที่ดินที่๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ๓ นายกาเด็ด ขันธวิธิ ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share