คำวินิจฉัยที่ 12/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒/๒๕๔๕

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนครนายก

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ประกอบกับมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
นายสังวาลย์ อิศรางกูร เป็นโจทก์ฟ้อง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ ๑ กระทรวงกลาโหม ที่ ๒ นางสว่าง จันทร์กระจ่าง ที่ ๓ และนางสุภาพ ศรีอร่าม ที่ ๔ เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครนายก อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือ ภ.บ.ท. ๕ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เนื้อที่จำนวน ๒๕ ไร่ ๒ งาน ๓๔ ตารางวา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ต้องการที่ดินในเขตตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เพื่อก่อสร้างโรงเรียนเตรียมทหาร แต่ถูกต่อต้านจากราษฎรผู้ถือครองที่ดินบริเวณดังกล่าว ต่อมา จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ จึงได้แต่งตั้งจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ เป็นตัวแทนในการเจรจากับราษฎรที่ถือครองที่ดิน โดยจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ตกลงจะจ่ายเงินค่าชดเชยที่ดินและค่ารื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินให้ราษฎรในอัตราไร่ละ ๔๕,๐๐๐ บาท ซึ่งโจทก์จะได้เงินรวมเป็นจำนวน ๑,๑๒๕,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ได้ออกตั๋วแลกเงินเป็นจำนวนหลายฉบับสั่งจ่ายแก่จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ เพื่อส่งมอบให้โจทก์และราษฎรอื่น แต่จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระให้แก่โจทก์ กลับนำเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นโดยทุจริต จึงถือว่าเกิดจากความบกพร่องผิดพลาดในการตกลงของจำเลยที่ ๑ และจำเลย ที่ ๒ โดยตรง และทำให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์จากการกระทำทุจริตของจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๔ ด้วย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๑,๑๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลจังหวัดนครนายกพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องฟ้องให้จำเลยทั้ง ๔ ร่วมรับผิดชดใช้ค่าชดเชยที่ดิน อันเป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ต่อมา โจทก์ได้ฟ้องสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกระทรวงกลาโหม ในคดีดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลปกครองกลางเห็นว่า ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองเท่านั้น และตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สัญญาที่จะเป็นสัญญาทางปกครองได้นั้น ต้องเป็นสัญญาที่มีลักษณะสำคัญ คือ คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ และสัญญานั้นมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่ให้คู่สัญญาเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองบรรลุผล สัญญาหรือข้อตกลงระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง ๒ หาได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองดังกล่าวข้างต้นไม่ คดีจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ศาลปกครองกลางจึงไม่รับคดีนี้ไว้พิจารณา

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การฟ้องเรียกเงินค่าชดเชยที่ดินและค่ารื้อถอนของราษฎร ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงเรียนเตรียมทหารอยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า ที่ดินในคดีนี้เป็นที่ราชพัสดุตามพระราชกฤษฎีกา จังหวัดนครนายก พุทธศักราช ๒๔๘๔ ซึ่งกองทัพบกเป็นผู้ดูแลและใช้ที่ดินดังกล่าวในกิจการของทางราชการทหารโดยกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม ต้องการสร้างโรงเรียนเตรียมทหารบนที่ดินดังกล่าว เมื่อปรากฏว่ามีราษฎรจำนวนมากอาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินนั้น กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม จึงได้มีคำสั่งกองบัญชาการทหารสูงสุด (เฉพาะ) ที่ ๘๖๗/๓๗ ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๓๗ ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงเรียนเตรียมทหาร โดยมีผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (นายอารักษ์ สุนทรส)
เป็นหนึ่งในคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ ๑ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ให้จ่ายค่าชดเชยแก่ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาคณะทำงานฯ โดยพลโท สัมพันธ์ บุญญานันต์ ประธานคณะทำงาน และนายอารักษ์ สุนทรส ผู้แทนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คณะทำงานได้ทำบันทึกข้อตกลงกับนางสว่าง จันทร์กระจ่างและนางสุภาพ ศรีอร่าม ให้บุคคลทั้งสองเป็นผู้เข้าดำเนินการเจรจาให้ราษฎรผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ขนย้ายทรัพย์สินและส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่คณะทำงานฯ ในสภาพเรียบร้อย โดยกำหนดค่าชดเชยให้ในอัตราไร่ละ ๔๕,๐๐๐ บาท
คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโรงเรียนเตรียมทหาร ของผู้บัญชาการทหารสูงสุด กำหนดให้คณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
๑. สำรวจและจัดทำรายละเอียด การบุกรุกของราษฎรในพื้นที่ โดยประสานรายละเอียด กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง
๒. จัดทำรายละเอียดความต้องการงบประมาณในด้านการชดเชยค่าที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและพืชไร่ ให้กับราษฎรในพื้นที่
๓. ดำเนินกรรมวิธีการจ่ายเงินในข้อ ๒ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วมโครงการก่อสร้างและย้ายโรงเรียนเตรียมทหาร
การดำเนินการทั้งหลายของคณะทำงานฯ โดยเฉพาะการทำบันทึกข้อตกลงเพื่อรวบรวมที่ดินสำหรับใช้ในการก่อสร้างโรงเรียนเตรียมทหาร ณ บริเวณตำบลศรีกะอาง อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก กับนางสว่าง จันทร์กระจ่าง และนางสุภาพ ศรีอร่าม จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการทหาร คือ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม ตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมาจากคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถือว่าคณะทำงานฯ ทำการไปในฐานะผู้แทนของกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนมิได้ถูกจำกัดว่าจะต้องใช้วิธีการทางปกครองเสมอไป หน่วยงานของรัฐอาจเลือกใช้วิธีการตามกฎหมายเอกชนในการดำเนินการก็ได้
ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า ราษฎรบางส่วนได้ยื่นเรื่องของเอกสารแสดงสิทธิครอบครองแล้ว และบางส่วนไม่ต้องการขาย กระทรวงกลาโหมจึงดำเนินการโดยการตั้งคณะทำงานฯ ไปเจรจากับราษฎรที่บุกรุก แสดงว่ากระทรวงกลาโหมดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวจากราษฎรโดยใช้กฎหมายแพ่ง มิได้ใช้อำนาจรัฐในการบังคับเอาจากราษฎรโดยการเวนคืนแต่อย่างไร รวมทั้งบันทึกข้อตกลงระหว่างคณะทำงานฯ กับนางสว่าง จันทร์กระจ่าง และนางสุภาพ ศรีอร่าม ในการดำเนินการเจรจากับราษฎรผู้ครอบครองที่ดินก็มิได้มีข้อหนึ่งข้อใดมอบให้บุคคลทั้งสองไปใช้อำนาจเหนือราษฎร มิได้ให้เอกสิทธิ์แก่คณะทำงานฯ เป็นพิเศษให้มีสถานะที่เหนือกว่าเอกชน นิติสัมพันธ์ระหว่างกระทรวงกลาโหม คณะทำงานฯ และราษฎร จึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องเรียกเงินค่าชดเชยที่ดินและค่ารื้อถอน ระหว่างนายสังวาลย์ อิศรางกูร ผู้ฟ้องคดี กับ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทรวงกลาโหม นางสว่าง จันทร์กระจ่าง และ นางสุภาพ ศรีอร่าม ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ ศาลที่มีอำนาจได้แก่ ศาลจังหวัดนครนายก

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share