แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๔๖
วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๔๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดสิงห์บุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสิงห์บุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคสาม (ที่ถูกต้องคือ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) เนื่องจากเป็นกรณีจำเลยโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น)
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๔ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี โดยนายศุภวัฒน์ เทียนถาวร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางปริมพร อ่ำพันธุ์ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดสิงห์บุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๙๙/๒๕๔๔ ความว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ มีนายศุภวัฒน์ เทียนถาวร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ส่วนจำเลย ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขานุการจังหวัดสิงห์บุรี ตั้งแต่วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙ ถึง ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๔ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการจัดงานด้านต่าง ๆ เช่น งานธุรการ งานสัญญา งานบุคคล งานจัดระบบงาน งานการเงินและบัญชี งานพัสดุ งานระเบียบแบบแผน รวบรวมสถิติ ติดตามผลการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าส่วนราชการ ตอบปัญหา ชี้แจงเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับงานในหน้าที่และปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวข้อง รวมทั้งการติดต่อประสานงาน การวางแผน มอบหมายงาน ควบคุม ตรวจสอบ ให้คำปรึกษา แนะนำปรับปรุงแก้ไข ติดตามประเมินผล และแก้ปัญหาขัดข้องในการปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย
ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ โจทก์ได้ซื้อวัสดุงานบ้านงานครัวประเภทเครื่องดูดฝุ่น โต๊ะ เก้าอี้ แจกัน หม้อหุงข้าว ถ้วยชาม เครื่องปรับอากาศ พัดลมดูดอากาศ ต่อมาวันที่ ๑๘ – ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๙ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่ามีสิ่งของจำนวน ๑๕ รายการ สูญหายไป จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการจังหวัดได้รู้หรือควรรู้ว่าสิ่งของที่จัดซื้อมาอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยได้สูญหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบและทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหาตัวบุคคลที่รู้เห็นหรือได้กระทำผิดมารับโทษทางวินัย ทางอาญาและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง แต่จำเลยก็หาได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่จะหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดมาลงโทษแต่อย่างใด จนกระทั่งสำนักงานจังหวัดสิงห์บุรีมีหนังสือสั่งการให้โจทก์สอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง จำเลยจึงได้ดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง แต่ไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนทุกรายการ ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดในสิ่งของที่สูญหายอีกจำนวน ๓๒,๘๐๐ บาท จำเลยได้ลงลายมือชื่อรับหนังสือดังกล่าวแต่ไม่เสนอให้โจทก์ทราบและไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแจ้งมา การที่จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการแต่งตั้งและเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อหาตัวบุคคลที่ต้องรับผิดและไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ทำให้ไม่มีการตั้งกรรมการตรวจสอบกรณีที่ทรัพย์สินของทางราชการสูญหาย ซึ่งการงดเว้นการกระทำของจำเลย เป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน ๓๒,๘๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ นับแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๙ จนถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๓๖,๙๐๐ บาท และให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีในต้นเงิน ๓๒,๘๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยได้ยื่นคำร้องลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๖ ขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวและให้ทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครอง เนื่องจากจำเลยเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองกลาง ไม่อยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดสิงห์บุรี และข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันนี้ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าคดีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทของข้าราชการจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ส่วนราชการ อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๗/๒๕๔๕ และที่ ๒๐/๒๕๔๕ ทั้งนี้ จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันก่อนที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดสิงห์บุรี โดยเห็นว่าคำสั่งของโจทก์ที่ให้ชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน ๓๒,๘๐๐ บาท เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๕๓๖/๒๕๔๔
ศาลจังหวัดสิงห์บุรีพิเคราะห์เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีให้ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดในทางละเมิดอันเป็นความผิดส่วนตัวในทางแพ่ง มิใช่การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติในทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดสิงห์บุรี คำฟ้องนี้จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง จึงให้รอการพิจารณาคดีชั่วคราวและส่งความเห็นนี้ไปยังศาลปกครองเพื่อทำความเห็นและดำเนินการตามมาตรา ๑๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลปกครองกลางเห็นว่า ตามมาตรา ๒๗๖ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งบัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) … (๒) … (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” แล้ว เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ฟ้องจำเลยซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดของโจทก์ กล่าวหาว่าจำเลยละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการตรวจสอบและทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อหาผู้รับผิดในกรณีที่ทรัพย์สินของทางราชการสูญหาย จนกระทั่งสำนักงานจังหวัดสิงห์บุรีมีหนังสือสั่งการให้โจทก์สอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง แต่ดำเนินการไม่ครบถ้วนทุกรายการ ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ดำเนินการหาผู้รับผิดในทรัพย์สินของทางราชการที่สูญหายอีกบางรายการ จำเลยได้ลงชื่อรับหนังสือดังกล่าว แต่ไม่ดำเนินการตามหน้าที่จึงไม่มีการตั้งกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดเพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติ ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองที่จะพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว
คำวินิจฉัย
คดีนี้สรุปข้อเท็จจริงจากคำฟ้องได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งเลขานุการจังหวัดสิงห์บุรี (๑๐ มีนาคม ๒๕๒๙ ถึง๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๔) เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาและรับผิดชอบงานในหน้าที่ของสำนักงานเลขานุการจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี ขณะเกิดเหตุจำเลยจึงเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้รู้หรือควรรู้ว่าสิ่งของที่จัดซื้อมาอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยได้สูญหายไป จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบและทำบันทึกเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อหาตัวบุคคลที่รู้เห็นหรือได้กระทำผิดมารับโทษทางวินัย ทางอาญาและรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง แต่จำเลยก็หาได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อที่จะหาตัวผู้ที่ต้องรับผิดมาลงโทษแต่อย่างใด จนกระทั่งสำนักงานจังหวัดสิงห์บุรีมีหนังสือสั่งการให้โจทก์สอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง จำเลยจึงได้ดำเนินการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่ง แต่ไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนทุกรายการ ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดในสิ่งของที่ยังสูญหาย จำเลยลงลายมือชื่อรับหนังสือดังกล่าวแต่ไม่เสนอให้โจทก์ทราบและไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแจ้งมา การที่จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการแต่งตั้งคณะกรรมการและเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อหาตัวบุคคลที่ต้องรับผิดและไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามความประสงค์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยไม่ดำเนินการตามหน้าที่ ทำให้ไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีที่ทรัพย์สินของทางราชการสูญหาย ซึ่งการงดเว้นการกระทำของจำเลย เป็นการกระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ คดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ฟ้องว่า จำเลย (ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเลขานุการจังหวัดสิงห์บุรี) ละเลยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการเสนอเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดในสิ่งของที่ยังสูญหาย ทำให้ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อหาบุคคลที่ต้องรับผิดในทรัพย์สินของราชการที่ยังสูญหายดังกล่าวจนเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” กรณีจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเนื่องมาจากการละเลยต่อหน้าที่ ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี โจทก์ กับนางปริมพร อ่ำพันธุ์ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่
ศาลปกครองกลาง
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ