แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติโจทก์ และได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา การที่จำเลยขอยืมจากโจทก์เพื่อนำไปใช้ในการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ราชการ การทำสัญญาการยืมเงินเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลย จึงมิใช่เป็นการยืมตามลักษณะ 9 แห่ง ป.พ.พ. และไม่อาจนำบทบัญญัติในลักษณะ 9 มาใช้บังคับในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ส่วนจำเลยรับราชการในหน่วยงานของโจทก์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2540 จำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา จำเลยจึงขอยืมเงินเพื่อใช้ในการอบรมดังกล่าวจำนวน 127,100 บาท จากผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิอนุมัติให้จำเลยยืมเงิน และจำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้ว หลังจากได้รับเงิน จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวบรรจุซองกระดาษเก็บไว้ในรถยนต์ของนางสุนีย์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมประจำสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิ ต่อมานางสุนีย์ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดไว้ที่บริเวณหน้าสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิ และมีคนร้ายมางัดประตูรถยนต์ลักเอาเงินจำนวนดังกล่าวไป จำเลยในฐานะผู้ยืมจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน 127,000 บาท แก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 127,100 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การยืมเงินเพื่อนำไปทดรองจ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษาตามที่โจทก์ฟ้องมิใช่เป็นการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งจากการสอบสวนของโจทก์ไม่พบว่าผู้ใดกระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ส่วนจำเลยรับราชการในหน่วยงานของโจทก์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2540 จำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา จำเลยจึงขอยืมเงินเพื่อไปใช้ในการอบรมดังกล่าวจำนวน 127,100 บาท จากผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ผู้อำนวนการการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิอนุมัติให้จำเลยยืมเงิน และจำเลยได้รับเงินที่ยืมไปครบถ้วนแล้วภายหลังจากได้รับเงินจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวบรรจุซองกระดาษเก็บไว้ในรถยนต์ของนางสุนีย์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมประจำสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิ และนางสุนีย์ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปจอดไว้ที่บริเวณหน้าสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดชัยภูมิ ต่อมามีคนร้ายงัดประตูรถยนต์ลักเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปโจทก์ทำการสอบสวนและลงความเห็นว่าไม่มีผู้ใดกระทำไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คดีมีปัญหาในข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 127,100 บาท ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่าแม้การยืมเงินของจำเลยเพื่อนำไปใช้ในการอบรมที่โจทก์จัดขึ้นจะมิใช่เป็นการยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 ก็ตาม แต่เป็นกรณีต้องนำบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมาใช้ในฐานะเป็นบทกฎหมายใกล้เคียง เห็นว่า จำเลยเป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ และได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้ดำเนินการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษา เงินที่จำเลยขอยืมจากโจทก์ก็เพื่อนำไปใช้ในการอบรมลูกจ้างประจำโรงเรียนปฏิรูปการศึกษาดังกล่าว เป็นเรื่องของการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การทำสัญญาการยืมเงินเอกสารหมาย จ.2 เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลย จึงมิใช่เป็นการยืมตามลักษณะ 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกรณีนี้ก็ไม่อาจนำบทบัญญัติในลักษณะ 9 มาใช้บังคับในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้ ส่วนจำเลยจะต้องรับผิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่นั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดตามกฎหมายในส่วนนี้ จึงไม่เป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ