คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6350/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้แปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทยโจทก์ เป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้ร้องสอดตาม พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดยให้โอนบรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์ของโจทก์ ให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ร้องสอด และได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2546 พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ใช้บังคับ ในวันเดียวกัน ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. ก่อนที่จะแปลงสภาพได้มีมติที่ประชุมคณะผู้บริหารโจทก์ให้แบ่งหนี้ในคดีนี้ตามสัดส่วนปริมาณงานให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และผู้ร้องสอด ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้แปลงสภาพเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ผู้ร้องสอดจึงขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดเคยเป็นพนักงานโจทก์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2541 ซึ่งมีตำแหน่งหัวหน้าแผนกเงินค้างและเงินยืมทดรองได้กรอกรายการเท็จในใบสำคัญจ่ายเงินและปลอมลายมือชื่อผู้จัดทำเอกสารและผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินแล้วไปขอรับเงินจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่จ่ายเงินประจำแผนกเงินไปเป็นประโยชน์ตนโดยทุจริต จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ตรวจสอบการอนุมัติจ่ายเงิน ลายมือชื่อผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงิน และผู้มีสิทธิรับเงินตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่กลับจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ไปหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าแผนกเงินไม่ตรวจสอบดูแลและปล่อยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ใต้บังคับบัญชาจ่ายเงินโดยลำพังและจำเลยที่ 8 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกองการเงินและผลประโยชน์ ไม่ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ใต้บังคับบัญชาและปล่อยปละละเลยไม่นำเสนอมาตรการและวางระเบียบปฏิบัติงานเกี่ยวกับการเงินในแผนกเงินค้างและเงินยืมทดรองและแผนกเงิน บางรัก ให้มีประสิทธิภาพ ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 8 ไม่ใส่ใจในการบริหารงานและควบคุมการทำงานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 8 ให้ดีและมีประสิทธิภาพจนเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายดังกล่าว โจทก์จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและกรรมการสอบสวนทางแพ่ง และร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งแปดทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงินรวม 76,998,895.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ตามสัดส่วนของการละเมิด คือ จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 100,050,439.96 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 36,981,436.77 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 1,778,266.30 บาท จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 19,388,897.41 บาท จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 2,075,158.34 บาท จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 1,014,827.08 บาท จำเลยที่ 7 ชำระเงิน 1,188,122.68 บาท จำเลยที่ 8 ชำระเงิน 2,202,949.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ให้การทำนองเดียวกันว่ การที่จำเลยที่ 1 ทุจริตอย่างต่อเนื่องได้มาจากความบกพร่องของระบบงานในการควบคุมตรวจสอบของโจทก์เองที่ไม่ได้จัดระบบการวางแผนที่ดีและมีประสิทธิภาพ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วยความถูกต้องมิได้ละเมิดหรือทุจริต ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับไม่ถึงจำนวนตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมว่า ระหว่างที่คดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้แปลงสภาพของโจทก์เป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้ร้องสอด ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และได้มีพระราชฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 และในวันเดียวกันนั้นได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้ร้องสอด โดยให้โอนบรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด คดีต่างๆ และสินทรัพย์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องสอด และโอนบรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด คดีต่างๆ และสินทรัพย์ของการสื่อสารแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ได้มีการประชุมคณะผู้บริหารการสื่อสารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการแปลงสภาพกิจการโดยให้แบ่งหนี้ในคดีนี้ตามสัดส่วนปริมาณงานให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวนร้อยละ 46.07 เป็นเงิน 35,473,391.15 บาท และให้ผู้ร้องสอดจำนวนร้อยละ 53.93 เป็นเงิน 41,525,504.35 บาท ผู้ร้องสอดจึงมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี และขอให้จำเลยทั้งแปดชำระเงินและดอกเบี้ยในอัตราส่วนร้อยละ 53.93 พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องสอด ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า การที่โจทก์ในคดีนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามฟ้องหรือไม่ เพียงใดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน หากศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ผู้ร้องสอดก็ไม่มีสิทธิตามคำร้อง จึงยังมีเงื่อนไขอยู่ ผู้ร้องสอดจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหนี้ตามคำร้องหรือไม่ เพียงใดนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ร้องสอดต้องไปว่ากล่าวกับโจทก์เองตามสิทธิที่ผู้ร้องสอดมีอยู่ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีนี้แล้ว เพราะเป็นหนี้ที่แบ่งแยกจากกันได้ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ว่าผู้ร้องสอดรับโอนบรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์จากโจทก์ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และได้รับแบ่งหนี้ในคดีนี้ตามมติที่ประชุมคณะผู้บริหารโจทก์จำนวนร้อยละ 53.93 ผู้ร้องสอดจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในจำนวนหนี้หรือทุนทรัพย์ที่ฟ้องเป็นคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) นั้น เห็นว่า ตามคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 และเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 8 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้แปลงสภาพการสื่อสารแห่งประเทศไทย โจทก์ เป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ร้องสอด โดยให้โอนบรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์ของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และผู้ร้องสอดให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และผู้ร้องสอด และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2546 เพื่อกำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย โดยมาตรา 2 บัญญัติว่าพระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป และมาตรา 3 บัญญัติว่า ให้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 เป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด พ.ศ.2546 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 ในวันเดียวกันนี้ผู้ร้องสอดได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อนที่จะแปลงสภาพได้มีมติที่ประชุมคณะผู้บริหารโจทก์ให้แบ่งหนี้ในคดีนี้ตามสัดส่วนปริมาณงานให้แก่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และผู้ร้องสอด ดังนั้น เมื่อโจทก์ได้แปลงสภาพเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ซึ่งไม่ว่าศาลแรงงานกลางจะได้มีคำพิพากษาไปทางใดก็ย่อมกระทบสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีเหนือหนี้ดังกล่าว ผู้ร้องสอดจึงขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 และอนุญาตให้แก้ไขชื่อคู่ความในคำร้องดังกล่าวตามคำร้องขอแก้ไขคำคู่ความฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 อุทธรณ์ของผู้ร้องสอดฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความในคดีนี้ และอนุญาตให้แก้ไขคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามคำร้องขอแก้ไขคำคู่ความฉบับลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อไปตามรูปคดี

Share